Construction

ทล.ออกแบบทางหลวงแนวใหม่เลี่ยงเมืองร้องกวาง จ.แพร่ ยกระดับความปลอดภัยด้านคมนาคม รองรับภาคขนส่ง เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน

กรมทางหลวง (ทล.) ออกแบบทางหลวงแนวใหม่เลี่ยงเมืองร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร รองรับภาคขนส่ง หนุนเศรษฐกิจการค้าและท่องเที่ยวเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณปี พ.ศ. 2568

สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวง (ทล.) ขานรับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ผลักดันโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ทางเลี่ยงเมืองร้องกวาง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาโครงสร้างด้านคมนาคมขนส่งของประเทศและรองรับการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดแพร่ โดยมีทางหลวงสายหลักพาดผ่านคือ ทางหลวงหมายเลข 101 (สายร้องกวาง – น่าน) ซึ่งปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวมีสภาพการจราจรติดขัดและมีเขตทางจำกัดช่วงเขตชุมชนในพื้นที่ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ทำให้ไม่สามารถขยายช่องจราจรให้เพียงพอที่จะรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นได้ จนเกิดปัญหาการจราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กระทรวงคมนาคมจึงเร่งรัดให้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน รวมทั้งยกระดับด้านความปลอดภัยทางถนนและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวง

ทล. โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ได้จัดจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเพื่อสำรวจและออกแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองร้องกวาง มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 101 กม. ที่ 207+685 บริเวณพื้นที่ตำบลแม่ยางตาล โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านซ้าย ทิศเหนือผ่านบ้านแม่ยางใหม่ บ้านแม่ยางเตาปูน บ้านแม่ยางเปี้ยว ก่อนตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 103 ประมาณ กม. ที่ 5+010 ผ่านวัดแพร่แสงเทียน แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนท้องถิ่น (พร.7007) ก่อนผ่านพื้นที่ด้านเหนือของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ โดยตัดผ่านที่ดินบางส่วนของมหาวิทยาลัยที่ได้ขอใช้ประโยชน์ของพื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้ และสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 101 บริเวณบ้านผาหมู ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ยางตาล ตำบลแม่ยางฮ่อ ตำบลร้องกวาง และตำบลแม่ทราย ระยะทางรวมประมาณ 14.898 กิโลเมตร

สำหรับรูปแบบโครงการออกแบบเป็นถนนแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบร่องกว้าง 9.10 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร และด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เขตทางกว้าง 60 เมตร ใช้วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างโครงการ 2,627 ล้านบาท

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพื่อดำเนินการด้านจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี มีรายละเอียดงานออกแบบ ดังนี้

1.ทางแยกต่างระดับ (บริเวณจุดตัด ทล.101 จุดเริ่มต้นโครงการ) เป็นรูปแบบสามแยก 2 ระดับ ในลักษณะทรัมเป็ต (Trumpet Type) โดยออกแบบสะพานบนทางหลวงหมายเลข 101 ถนนระดับพื้นในทิศทางการจราจรจากแนวเส้นทางโครงการลอดใต้สะพานเพื่อเลี้ยวขวาไปเมืองแพร่ ส่วนทิศทางการจราจรจากน่านเลี้ยวขวาไปจังหวัดพะเยา ใช้สะพานตามทางหลวงหมายเลข 101 วนซ้ายลอดใต้สะพานตามแนวทางหลวงหมายเลข 101 ไปตามแนวเส้นทางของโครงการ

2.ทางแยกต่างระดับ (บริเวณจุดตัด ทล.103 กม. ที่ 4+997) ออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับบริเวณสี่แยกในลักษณะโคลเวอร์ลีฟ (Cloverleaf Interchange) ก่อสร้างทางลอดตามแนวเส้นทางโครงการ ขนาด 4 ช่องจราจร ออกแบบสะพานบนทางหลวงหมายเลข 103 ขนาด 4 ช่องจราจร ออกแบบช่องวนเลี้ยวขวา (Loop Ramps) สำหรับรถเลี้ยวขวาในแต่ละทิศทาง

3.ทางแยกต่างระดับ (บริเวณจุดตัด ทล.101 จุดสิ้นสุดโครงการ) ออกแบบสะพานบนทางหลวงหมายเลข 101 ขนาด 2 ช่องจราจร ถนนด้านล่างควบคุมด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร

ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่เพื่อรองรับการเดินทางและภาคขนส่งในพื้นที่ภาคเหนือไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าชายแดน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคและประเทศ