Saturday, April 20, 2024
Latest:
Construction

กระทรวงคมนาคมเร่งรัดศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map พร้อมให้ศึกษาเส้นทางเชื่อมระหว่าง EEC – เส้นทาง MR5 (ชุมพร – ระนอง) เพิ่มเติม

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมี ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เข้าร่วมการประชุม

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ของกรมทางหลวง ปัจจุบันงานศึกษาอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อจัดทำโครงข่ายในเบื้องต้น และคัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โดยผลการคัดเลือกเส้นทางนำร่อง จาก 10 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทาง MR1 ตาก (ด่านแม่สอด) – นครพนม (ด่านนครพนม) เส้นทาง MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) เส้นทาง MR3 กาญจนบุรี (ด่านน้ำพุร้อน) – สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) เส้นทาง MR4 ชลบุรี – ตราด (ด่านคลองใหญ่) เส้นทาง MR5 ชุมพร – ระนอง เส้นทาง MR6 ภูเก็ต – สุราษฎร์ธานี เส้นทาง MR7 เชียงราย (ด่านเชียงของ) – สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – ชลบุรี (แหลมฉบัง) เส้นทาง MR9 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ) – สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 โดยได้พิจารณา 4 โครงการนำร่องที่มีศักยภาพ ได้แก่

1. เส้นทาง MR5 ชุมพร ระนอง ระยะทาง 108 กิโลเมตร โดยการศึกษาจะสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการ Landbridge ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน – อ่าวไทย ให้เป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาค

2. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กิโลเมตร เบื้องต้นกรมทางหลวงคาดว่าการพัฒนาโครงการนี้จะประกอบด้วย ด่านเข้า – ออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 11 แห่ง อุโมงค์ 3 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง

3. เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นกรมทางหลวงคาดว่าการพัฒนา จะประกอบด้วย ด่านเข้า – ออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง

4. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กิโลเมตร ได้มีการพิจารณารูปแบบการกำหนดหมายเลขเส้นทางทั้ง 10 เส้นทาง โดยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการกำหนดหมายเลขเส้นทาง MR-Map ให้เป็นระบบตามมาตรฐานต่อไป

หลักการของโครงการแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map นี้ จะช่วยแก้ปัญหาโครงข่ายระบบคมนาคม ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการของโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการของกรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แก่ การพัฒนาวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 การบูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช นครนายก สระบุรี วงแหวนฯ รอบที่ 3 กับโครงการมอเตอร์เวย์สายกาญจนาภิเษก สระแก้ว และยังช่วยแก้ไขปัญหาเส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านเขตชุมชนเมืองที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและการแบ่งแยกพื้นที่ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ สายมาบกระเบา – ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงยังช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรางเป็นไปด้วยความสะดวก และลดปัญหาการขนส่งสินค้าทางรางเข้าสู่พื้นที่ในเขตเมืองใหญ่อีกด้วย

ศักดิ์สยาม ยังได้สั่งการให้ศึกษาโครงการนำร่องที่มีศักยภาพเพิ่มเติมอีก 1 เส้นทาง คือ เส้นทางเชื่อมระหว่างเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) – เส้นทาง MR5 (ชุมพร ระนอง) และกำชับให้กรมทางหลวงเน้นหลักการของโครงการแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map โดยเฉพาะกรณีเส้นทางที่ต้องเลี่ยงการเดินทางเข้าเขตเมือง เพื่อลดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินของประชาชนและต้องมีการวางแผนการเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทาง MR-Map กับพื้นที่เขตเมืองให้เชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการศึกษาข้อมูลรูปแบบเส้นทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อบูรณาการเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทาง MR-Map โดยเน้นการใช้ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้การดำเนินการให้เป็นในลักษณะการบูรณาการร่วมกับระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น และการดำเนินการต่าง ๆ ต้องลดผลกระทบต่อประชาชน และหากมีการแก้ไขรูปแบบของโครงการที่ได้มีการออกแบบ การรับฟังความเห็นประชาชน หรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้ว การบูรณาการที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป