Saturday, April 20, 2024
Latest:
News

ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ สมาคมอุตฯ ก่อสร้างไทย เสนอปรับกม.จัดจ้างก่อสร้างภาครัฐ พัฒนาวงการก่อสร้างไทย

ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือTCA จัดงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ปรับกฎหมายจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย”โดยลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เปิดงานสัมมนาถึงความเป็นมาของการศึกษานี้ โดยที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีบทบาทอย่างสูงต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในโอกาสที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับใช้มาครบระยะ 5 ปี ตามที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ต้องมีการทบทวน สมาคมฯ จึงร่วมกับทีดีอาร์ไอจัดให้มีการศึกษา เพื่อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุง ร่วมกับการปรึกษาหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและหัวหน้าคณะนักวิจัยประจำโครงการ กล่าวถึงภาพรวมของการศึกษาว่า การจัดจ้างก่อสร้างของภาครัฐมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของตลาดก่อสร้าง ซึ่งมีผลอย่างมากในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย หากสามารถปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติบางส่วน เช่น ให้เบิกจ่ายตรงเวลามากขึ้น และลดเวลาการหยุดชะงักของงานลงได้ จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 0.5 ต่อปี ข้อเสนอการปรับปรุงได้แก่ การปรับแนวคิดในกฎหมายจากการเน้น “ประโยชน์หน่วยงานของรัฐ” ไปเป็น “ประโยชน์สาธารณะ” การปรับแบบสัญญาจัดจ้างก่อสร้างให้เป็นธรรมมากขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติสากล โดยยึดตามแบบสัญญามาตรฐานของ FIDIC การปรับกลไกการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การกำหนดเงื่อนไขการจัดจ้างที่โปร่งใส ไม่สร้างต้นทุนโดยไม่จำเป็น และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างกลไกในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบ

ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ (ขวา) นักวิชาการประจำโครงการ

ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการประจำโครงการ ได้ยกตัวอย่างปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการก่อสร้างพบ เช่น ผู้ก่อสร้างต้องรับภาระต้นทุนการแก้ไขงานจากแบบก่อสร้างที่ผิดพลาด ทั้งที่ควรเป็นความรับผิดชอบของผู้ออกแบบหรือผู้ตรวจแบบ การคำนวณราคากลางที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าวัสดุก่อสร้าง หรือสูตรค่า K ที่ไม่ได้ทบทวนให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาเหล่านี้ เสี่ยงที่จะทำให้ผู้ประกอบการลดคุณภาพหรือไม่นำเทคโนโลยีสมัยเข้ามาใช้

การปรับปรุงกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น พร้อมกับยกเลิกหลักเกณฑ์ในบางเรื่อง เช่น ยกเลิกการพิจารณาจำนวนเครื่องจักรและอุปกรณ์ขั้นต่ำเพื่อจัดชั้นผู้รับเหมา โดยปรับไปใช้เกณฑ์ที่ส่งเสริมคุณภาพด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมแทน หรือการยกเลิกต้องขออนุญาตจ้างช่วงสำหรับทุกงาน ซึ่งปรับเป็นการกำหนดรายการที่ต้องขออนุญาตจ้างช่วงไว้ให้ชัดเจน แนวทางเหล่านี้ มีข้อดีหลายประการ เช่น ทำให้ได้เครื่องจักรที่ทันสมัยเนื่องจากผู้ก่อสร้างไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรไว้เอง ได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับงานที่ซับซ้อน บริหารงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐควรสร้างกลไกรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบ ทั้งก่อนและหลังการออกนโยบายและกฎใด ๆ การจัดให้มีกระบวนการเปิดรับฟังข้อมูลเชิงลึกจากฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงรับฟังข้อแนะนำจากผู้ปฏิบัติที่เชี่ยวชาญในงานก่อสร้าง และนำมาพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยการประเมินผลดี-ผลเสียของฝ่ายต่าง ๆ อย่างรอบด้าน จะเป็นโอกาสที่ดีของการทบทวนกฎหมายในครั้งนี้