Friday, April 19, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ….

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ที่มี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอช านายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ คค. เสนอว่า

1. โดยที่รัฐบาลมีการเร่งรัดนโยบาย แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและการใช้พลังงานของโลก และในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ได้มีมติในด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับกรมการขนส่งทางบกในการกำหนดมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าโดยการลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นการจูงใจให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

2. โดยที่พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 31บัญญัติให้ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจลดภาษีประจำปีสำหรับรถในเขตท้องที่ใดหรือในกรณีใดลงจากอัตราที่กำหนดไว้ท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาคค. กรมการขนส่งทางบกจึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งกำหนดให้ลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2568 ลง 80% ของอัตรา      ที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2550 ป็นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียน เพื่อเป็นการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

3. กรมการขนส่งทางบกได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ลงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทั่วไปทางเว็บไซต์ http://www.dlt.go.th และเว็บไซต์ http://elaw.dlt.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 เมษายน พ.ศ. 2565 มีประชาชนมาให้ความเห็น 20 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย

4. คค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้วโดยรายงานว่าโดยที่กรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่ต้องจัดเก็บเงินภาษีประจำปี เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รายได้จากการจัดเก็บดังกล่าวจะตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดอื่นจะตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งกรมการขนส่งทางบกประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน พ.ศ.2568 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 50,897,330 บาท(คาดว่าจะมีรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวน 128,736 คัน) หากร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จะส่งผลกระทบต่อหน่วยงานที่ได้รับเงินภาษีดังกล่าวด้วย โดยจะได้รับเงินภาษีเป็นรายได้ประมาณ 31,922,758 บาท ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 18,974,572 บาทคิดเป็น 37% ของรายได้ที่จะสามารถจัดเก็บรถไฟฟ้าทั้งหมด แต่เนื่องจากจำนวนภาษีของรถที่เสียภาษีประจำปี 2565 ถึงปี 2568 (รถทุกประเภท) ที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บได้จะมีรายได้ประมาณการในปี 2568 จำนวน 33,913,995,256 บาท การสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวลงในอัตรา 80% ดังกล่าว คิดเป็นจำนวนเพียงร้อยละ 0.05 จึงคาดว่าการลดอัตราภาษีลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการนำไปจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชนแต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ ด้วยเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และปริมาณ PM 2.5 ในอากาศ ตลอดจนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ