Friday, April 26, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติอนุมัติ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว สำหรับให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา O&M ของ ทล.

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2565 ซึ่งมี พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) (โครงการร่วมลงทุน O&M) ตามหลักการของโครงการร่วมลงทุน O&M ที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่ ทล. เสนอแล้ว

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   คค. รายงานว่า

           1.โครงการทางหลวงพิเศษ M82 เป็นส่วนแรกของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – ปากท่อ มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสามารถรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสู่ภาคใต้ของประเทศ แบ่งเบาปริมาณจราจรบน ทล. 35 (ถนนพระราม 2) ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษ M82 ในส่วนของงานโยธา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน – เอกชัย ด้วยแหล่งเงินงบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2563 – 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี พ.ศ. 2566 (2) ระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว ด้วยแหล่งเงินงบเงินทุนค่าธรรมเนียมฯ จากแผนประมาณการรายจ่ายที่ได้ขอความตกลงกับ กค. ระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2567 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2568

           2.ทล. ได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินโครงการ ประเมินความเหมาะสมของโครงการ และเสนอรูปแบบที่เหมาะสมของการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการร่วมลงทุน O&M ตามขั้นตอนการนำเสนอโครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562) รวมทั้งได้นำข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากภาคเอกชน (Market Sounding) มาประกอบการศึกษา โดยสรุปได้ว่า รูปแบบการลงทุนแบบ PPP Grossing Cost เป็นรูปแบบการลงทุนที่มีความเหมาะสมที่สุด เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดของจำนวนเงินงบประมาณที่จ่ายไป โดยตามผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณเป็นรูปแบบการลงทุนที่ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิสูงสุดและให้ผลลัพธ์ความคุ้มค่าของเงิน (Value for Money: VfM)  เมื่อเทียบกับกรณีที่ภาครัฐดำเนินการเอง (Public Sector Comparison: PSC) สูงสุด

                   ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนแบบ PPP Gross Costมีแนวทางการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้

                             (1) เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนงานระบบ1 และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงานในลักษณะของ Build Transfer Operate (BTO)

                             (2) เอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทาง เพื่อนำส่งรายได้ทั้งหมดให้แก่ภาครัฐ

                             (3) เอกชนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุของสัญญา โดยจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment)โดยภาครัฐแบ่งเป็นการจ่ายคืนค่าตอบแทนเงินลงทุนค่างานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลา 10 ปี และค่าตอบแทนการให้บริการในส่วนของค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ

                   3. ทล. ได้คำนวณมูลค่าโครงการร่วมลงทุน O&M ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าของโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการคำนวณมูลค่าโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 โดยโครงการร่วมลงทุน O&M มีมูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 29,412.44 ล้านบาท ณ อัตราคิดลด ร้อยละ 3 จึงถือเป็นโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญของหลักการของโครงการร่วมลงทุน O&M สรุปได้ ดังนี้

3.1 วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพการจราจรที่ติดขับบน ทล. 35 (ถนนพระราม 2)โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น อันเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองทั้ง 2 ข้างทาง ของ ทล. 35 ที่มีชุมชนหนาแน่นและสถานที่สำคัญหลายแห่งส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและความล่าช้าในการเดินทางและการขนส่งสินค้าของประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทางเศรษฐกิจและสังคมต่อผู้เดินทางและต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการทางหลวงพิเศษ M82 และเพิ่มโครงข่ายถนนสายหลักในพื้นที่ตอนล่างของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และในอนาคตเมื่อพัฒนาโครงการฯ ต่อจากบ้านแพ้วไปจนถึงปากท่อจะสามารถเชื่อมต่อกับโครงการในอนาคต ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม – ชะอำ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครไปสู่พื้นที่ภาคใต้ได้โดยตรง ช่วยให้การเดินทางมีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

3.2 แนวเส้นทาง โครงการทางหลวงพิเศษ M82 มีแนวเส้นทางอยู่บน ทล. 35 (ถนนพระราม 2) ลักษณะเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 24.7 กิโลเมตรมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ของ กทพ. ประมาณบริเวณกิโลเมตร 11+959 (ของ ทล. 35) และมีจุดสิ้นสุดประมาณบริเวณกิโลเมตร 36+645 (ของ ทล. 35) ในเขตพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

3.3 ขอบเขตของโครงการ ครอบคลุม งานออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องสำหรับโครงการทางหลวงพิเศษ M82 ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการฯ ทั้งในส่วนของงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานระบบที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน

ลักษณะโครงการ ได้รับการออกแบบให้มี การควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ (Full Control of Access)รองรับการสัญจรที่สามารถใช้ความเร็วได้อย่างปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System)คิดค่าผ่านทางตามระยะทางแบบมีค่าแรกเข้า ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ระบบ M-Flow) หรือรูปแบบที่เหมาะสม และจุดขึ้น – ลง โครงการทางหลวงพิเศษ M82 เพื่อเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมหลักตลอดแนวเส้นทางซึ่งกำหนดไว้ในตำแหน่งจัดเก็บค่าผ่านทางที่เหมาะสมตลอดแนวโครงการ จำนวน 6 แห่ง และตำแหน่งจัดเก็บค่าผ่านทางบริเวณรอยต่อโครงการฯ เชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ของ กทพ. และอาคารศูนย์ควบคุมกลาง อาคารหน่วยตรวจการณ์และกู้ภัย อาคารศูนย์ดำเนินงานและบำรุงรักษา และอาคารปฏิบัติงานซ่อมบำรุง

3.4 รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost

3.5 มาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน การจ่ายค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment) เป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value: PV) ไม่เกินกรอบวงเงิน 11,340.28 ล้านบาท อัตราคิดลดร้อยละ 3 ต่อปีโดยภาครัฐแบ่งจ่ายคืนค่าตอบแทนเงินลงทุนค่าติดตั้งงานระบบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และค่าตอบแทนการให้บริการในส่วนของค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ โดยใช้จ่ายจากเงินทุนค่าธรรมเนียมฯ ตามแผนประมาณการรายจ่ายที่จะขอทำความตกลงกับ กค. ภายหลังได้รับอนุมัติโครงการร่วมลงทุน O&M จาก ครม.ตามขั้นตอนต่อไป

           4. คค. แจ้งว่า คณะกรรมการ PPPในคราวประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้พิจารณาโครงการร่วมลงทุน O&M และมีมติ ดังนี้

                   4.1 เห็นชอบหลักการของโครงการร่วมลงทุน O&M(ตามข้อ 3) ตามที่ ทล. เสนอ เพื่อ คค. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุน O&M ต่อไป

                   4.2 มอบหมายให้ คค. ทล. และคณะกรรมการคัดเลือกรับไปดำเนินการ ดังนี้

                             4.2.1 ให้ คค. และ ทล. พิจารณาแผนการลงทุนโครงการด้านการคมนาคมขนส่งอื่น ๆ ในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงการร่วมลงทุน O&M อย่างรอบคอบ และไม่ให้เกิดภาระการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในแนวเส้นทางเดียวกัน

                           4.2.2 ให้ คค. กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเช่น ทล. กทพ. และผู้ประกอบการอื่น ๆ ให้มีระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางที่เป็นโครงข่ายเดียวกัน (Single Platform) และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานได้อย่างไร้รอยต่อ (Seamless)

                           4.2.3 ให้ ทล. และคณะกรรมการคัดเลือกเร่งดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเพื่อให้ไม่กระทบต่อแผนการเปิดให้บริการโครงการทางหลวงพิเศษ M82 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2568โดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการและการใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชน ในการดำเนินโครงการฯ รวมถึงดำเนินการตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการร่วมลงทุน O&M แล้ว

                         4.2.4 ให้ ทล. กำกับการดำเนินการในเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการทางหลวงพิเศษ M82 ให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

                        4.2.5 ให้ ทล. และคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณากำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment) ให้แก่เอกชน ที่อิงอยู่บนพื้นฐานของเกณฑ์ประสิทธิภาพของการให้บริการควบคู่กับข้อตกลงและเงื่อนไขคุณภาพของการให้บริการ (Service Level Agreement : SLA)โดยเฉพาะมิติในด้านความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง รวมไปถึงความสะอาดของพื้นที่โดยรอบของแนวเส้นทางโครงการฯ

               4.3 มอบหมายให้ ทล. คค. และคณะกรรมการคัดเลือกรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป