Thursday, April 25, 2024
Latest:
Property

DDproperty คาดการณ์ปี’64 อสังหาฯ ทรงตัว ชี้กำลังซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤต COVID-19 ที่ยังระบาดหนัก

DDproperty (ดีดีพร็อพเพอร์ตี้) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ในเครือ PropertyGuru Group คาดการณ์สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยในปี พ.ศ.2564 จะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่มีคลี่คลาย รวมทั้งมีระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา และกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูง ภาครัฐต้องมีนโยบายและมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งระบบ

กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกที่ 3 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การซื้อเพื่ออยู่จริงลดลงและการซื้อเพื่อทำกำไรก็ลดลงเช่นกัน ที่สำคัญระยะเวลาในการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์แต่ละประเภทเริ่มนานขึ้น จากที่เคยใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจเพียง 8 เดือน เป็นการใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อมากกว่า 1 ปี โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ขอประเทศไทยได้รับผลกระทบมากขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการจะเร่งระบายสต็อกคงค้างของโครงการสร้างเสร็จพร้อมอยู่ มีการทำโปรโมชั่นต่างๆมากมากในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาบางส่วนแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

“คาดว่าทั้งปี พ.ศ.2564 ภาคอสังหาริมทรัพย์จะทรงตัว หรือหากในไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2564 มีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับคนไทยทั้งประเทศครบตามเป้า 100% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศตามที่รัฐบาลตั้งไว้และมีแนวนโยบายช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์อย่างตรงจุด ทั้งเรื่องการลดลดค่าโอนและค่าจดจำนองสำหรับบ้านและคอนโดมิเนียม การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ทุกๆรายเข้าถึงมากขึ้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศกลับมาและทำให้การประเมินการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมาเติบโตขึ้นได้บวกนิดหน่อย แต่ไม่สามารถกลับมาเฟื่องฟูเหมือนช่วงก่อนเกิด COVID-19” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าว


ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ต่ำที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส

สำหรับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ.2564 พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯต่ำที่สุดในรอบ 15 ไตรมาสปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 190 จุด จาก 197 จุด หรือลดลง 4% จากไตรมาสที่ผ่านมาและดัชนีราคาลดลง 7% เมื่อเทียบจากไตรมาสที่1 ปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา เมื่อแยกประเภทที่อยู่อาศัยจะพบว่าดัชนีราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยลดลง 3% จากไตรมาสเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ.2563 และลดลงถึง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ผู้บริโภคให้ความสนใจโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น ประกอบกับสัญญาณของนักลงทุนที่หายไปจากตลาดจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan-to-value (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่หลังที่ 2 ขึ้นไปต้องวางเงินดาวน์มากขึ้น รวมถึงผู้ซื้อจากต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งชาวยุโรปที่หายไปจากตลาดเป็นจำนวนมากโดยดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ลดลง 0.5% และดัชนีราคาบ้านเดี่ยวลดลง 1%


จับตา5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่มีดัชนีราคาเติบโตสูงสุดในรอบไตรมาส

สำหรับ 5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่มีดัชนีราคาเติบโตสูงสุดในรอบไตรมาส จะอยู่ในพื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ หรือ CBD และพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯเพราะทำเลเหล่านั้นเป็นทำเลที่มีรถไฟฟ้าผ่านอยู่แล้วและมีบางทำเลเพิ่งจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้า รวมทั้งขณะนี้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่เพื่อให้บริการในอนาคตอันใกล้ ได้แก่1.เขตทวีวัฒนา พื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 25,000 บาทต่อตารางเมตร2.เขตบางเขน พื้นที่นอกเขต CBD ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 10% จากไตรที่ 4 พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 50,000 บาทต่อตารางเมตร 3. เขตตลิ่งชัน พื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 43,000 บาทต่อตารางเมตร 4.เขตสะพานสูง พื้นที่นอกเขต CBD ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 31,000 บาทต่อตาราเมตร และ5.เขตปทุมวัน พื้นที่ CBD ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563มีราคาขายเฉลี่ย 215,000 บาทต่อตาราเมตร


เผย 5 ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีดัชนีราคาลดต่ำสุดในรอบไตรมาส

สำหรับ 5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่มีดัชนีราคาลดลงสูงสุดในรอบไตรมาสได้แก่ 1.เขตสัมพันธวงศ์ ดัชนีราคาลดลง 18% จากไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย81,000 บาทต่อตารางเมตร 2.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ดัชนีราคาลดลง 11% จากไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 190,000 บาทต่อตารางเมตร 3.บางบอน ดัชนีราคาลดลง 9% จากไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 47,000 บาทต่อตารางเมตร 4.เขตภาษีเจริญ ดัชนีราคาลดลง 7% จากไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 65,000 บาท และ5.เขตพระโขนง ดัชนีราคาลดลง 6% จากไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 97,000 บาทต่อตารางเมตร


5 ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ราคาคอนโดเพิ่มมากที่สุดในรอบไตรมาส

กมลภัทร กล่าวว่า สำหรับราคาคอนโดมิเนียม 5 ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯที่เพิ่มมากที่สุดในรอบไตรมาส ได้แก่ 1.แขวงบางขุนพรหมเขตพระนคร ราคาเพิ่มขึ้น 40% จากไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่าราคาเพิ่มสูงขึ้น 138% 2.แขวงคลองถนน เขตสายไหม ราคาเพิ่มขึ้น 32% จากไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่าราคาเพิ่มสูงขึ้น 76% 3.แขวงอนุสาวรีย์ชัย เขตบางซื่อ ราคาเพิ่มขึ้น 14 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่าราคาเพิ่มสูงขึ้น 27% 4.แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ราคาเพิ่มขึ้น 11 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่าราคาคงที่ และ5.แขวงบางพลัด เขตบางพลัด ราคาเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่าราคาเพิ่มสูงขึ้น 15%


5 ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ราคาบ้านเดี่ยวเติบโตมากที่สุดในรอบปี

สำหรับ 5 ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯที่ราคาบ้านเดี่ยวเติบโตมากขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่ 1.แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้น 30 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า ลดลง 10% 2.แขวงศาลาธรรมศพ เขตทวีวัฒนา เพิ่มขึ้น 15 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 25% 3.แขวงบางจาก เขตพระโขนง เพิ่มขึ้น 8 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 8% 4.แขวงระมาด เขตตลิ่งชัน เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 5% และ5.แขวงพระโขนงเหนือ เขตทวีวัฒนา เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 1%


5 ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ราคาทาวน์เฮ้าส์เติบโตมากที่สุดในรอบปี

สำหรับ 5ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯที่ราคาทาวน์เฮ้าส์เติบโตมากขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่ 1.แขวงหนองจอก เขตหนองจอก เพิ่มขึ้น 14 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 16% 2.แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง เพิ่มขึ้น 12 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 29% 3.แขวงบางนา เขตบางนา เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 18% 4.แขวงบางจาก เขตพระโขนง เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 2% และ5.แขวงท่าข้ามเขตบาขุนเทียน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 พบว่า เพิ่มขึ้น 12%


ซัพพลายที่อยู่อาศัยพื้นที่กรุงเทพฯในไตรมาสแรก ปรับเพิ่มขึ้น 10%

กมลภัทร กล่าวว่า ในส่วนของซัพพลายที่อยู่อาศัยพื้นที่กรุงเทพฯในไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี พ.ศ 2563 ประมาณ 10% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2563 ประมาณ 19% เนื่องจากสถานการณ์จากการระบาดของ COVID-19 รอบแรกเริ่มคลี่คลาย ผู้ประกอบการได้เปิดโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดหลังจากที่ชะลอการเปิดโครงการมาในช่วงก่อนหน้า แต่เมื่อเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นในรอบที่ 3 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ก็เริ่มชะลอการเปิดโครงการอีกครั้ง ในขณะที่อัตราดูดซับในตลาดยังค่อนข้างน้อย และในส่วนซัพพลายที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงไตรมาส 1 ปีพ.ศ. 2564 ประเภทบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 ประเภททาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และ เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563 และประเภทคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 10 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้น 17%เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีพ.ศ. 2563

สำหรับราคาที่ผู้บริโภคมีความสนใจซื้อและเช่าอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคาที่สูงกว่า 5,000,000 บาท คิดเป็น 55% รองลงมา จะเป็นราคาต่ำกว่า 3,000,000 บาท คิดเป็น 21% ส่วนราคา 3,000,000-5,000,000 บาท อยู่ที่ 23%


5 ทำเลที่ผู้บริโภคสนใจซื้อเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปี ที่ COVID-19 ระบาด

สำหรับ 5 ทำเลที่ได้รับความสนใจซื้อจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปี ที่ COVID-19 ระบาด ได้แก่ 1.เขตยานนาวา มีผู้ให้ความสนใจซื้อเพิ่มขึ้น 215% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 2.เขตธนบุรี เพิ่มขึ้น 137% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2563 และ 29% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 3.เขตมีนบุรี เพิ่มขึ้น 132% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2563 และ 30% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 4.จอมทอง เพิ่มขึ้น 114% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 และ 19% บางแค เพิ่มขึ้น 113% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2563 แต่ลดลง -13% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม 2564


5 ทำเลที่ผู้บริโภคสนใจเช่าเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปี ที่ COVID-19 ระบาด

สำหรับ 5 ทำเลที่ได้รับความสนใจเช่าจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปี ที่ COVID-19 ระบาด ได้แก่ 1.เขตปทุมวัน เพิ่มขึ้น 193% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2564 2.เขตบางคอแหลม เพิ่มขึ้น 188% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2563 แต่ลดลง 20% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 3.เขตบึงกุ่ม เพิ่มขึ้น 185% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 4.เขตจตุจักร เพิ่มขึ้น 159% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 และเขตบางซื่อ เพิ่มขึ้น 150% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564


แนวโน้มความต้องการซื้อ-เช่าที่อยู่อาศัยเดือน พ.ค. ใน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของไทย

กมลภัทร กล่าวถึง แนวโน้มความต้องการซื้อ-เช่าที่อยู่อาศัยช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ใน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของไทย พบว่า แต่ละจังหวัดยังมีความต้องการซื้อหรือเช่าที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 12% ความต้องการเช่าเพิ่ม 11% 2.จังหวัดนนทบุรี มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 16% ความต้องการเช่าเพิ่ม 0.3% 3.จังหวัดสมุทรปราการ มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 10% แต่ความต้องการเช่าลดลง -2% 4.จังหวัดชลบุรี มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 18% ความต้องการเช่าเพิ่ม 30% 5.จังหวัดเชียงใหม่ มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นถึง 45% ความต้องการเช่าเพิ่ม 3% 6.จังหวัดปทุมธานี มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 14% แต่ความต้องการเช่าลดลง -10% 7.จังหวัดเพชรบุรี มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 18% แต่ความต้องการเช่าลดลง -17% 8.จังหวัดสมุทรสาคร มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 15% ความต้องการเช่าเพิ่ม 18% 9.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความต้องการซื้อลดลง -5% แต่ความต้องการเช่าเพิ่ม 5% และ 10.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความต้องการซื้อลดลง -20% แต่ความต้องการเช่าเพิ่มถึง 41%