Thursday, April 25, 2024
Latest:
Construction

ครม. เห็นชอบเรื่อง แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการ รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ครม.เห็นชอบ เรื่อง การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยให้ คค. ดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

  1. รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (ผู้รับสัมปทาน Northern Bangkok Monorail: NBM) (นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดย BSR JV) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ซึ่งสัญญาได้ระบุเกี่ยวกับข้อเสนอของผู้รับสัมปทานในชั้นการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ที่เสนอจะก่อสร้างส่วนต่อขยายแยกออกจากเส้นทางสายหลักเพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีศรีรัช (PK – 10) เข้าสู่ใจกลางพื้นที่เมืองทองธานี โดยในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานี้ คู่สัญญาต้องเจรจาเงื่อนไข ต่างๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ แต่ต้องไม่ทำให้ รฟม. ได้รับสิทธิตามสัญญาน้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม
  2. รฟม. และ NBM ได้ดำเนินการเจรจาต่อรองเงื่อนไขและประเด็นต่างๆ ของโครงการส่วนต่อขยายฯ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
    1. การปรับปรุงรูปแบบสถานีศรีรัชของโครงการส่วนหลักเมื่อมีโครงการส่วนต่อขยาย รวมทั้งค่าก่อสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลง ผลการเจรจา NBM ยอมรับในการดำเนินการก่อสร้างสถานีศรีรัช รวมทั้งส่วนปรับปรุงและรับผิดชอบค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงงานทั้งหมด
    2. การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาร่วมลงทุน ผลการเจรจา NBM ยังคงชำระค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก และจะชำระผลตอบแทนเพิ่มเติมกรณีรวมโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยาย ให้แก่ รฟม. โดยอ้างอิงปริมาณผู้โดยสารในสัญญาโครงการส่วนหลัก
    3. อัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสาร ผลการเจรจา NBM ยอมรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการส่วนต่อขยาย ให้สอดคล้องตามหลักการในสัญญาโครงการส่วนหลัก
    4. การดำเนินโครงการส่วนต่อขยายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ผลการเจรจา NBM ยอมรับให้คงระยะเวลาดำเนินโครงการส่วนหลัก ในระยะที่ 1และ 2 ตามสัญญาโครงการส่วนหลักถึงแม้จะมีการก่อสร้างของโครงการส่วนต่อขยาย
    5. การให้ รฟม. มีส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการเชื่อมต่อกับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานี ผลการเจรจา NBM จะดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก รฟม. ก่อน และสิทธิในรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ (รวมถึงการเชื่อมต่อ) เป็นไปตามสัญญาโครงการส่วนหลัก
    6. ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย ผลการเจรจา ผลการเจรจา NBM รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย
  3. ภายหลังจากการเจรจาจนได้ข้อยุติ รฟม. ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีขั้นตอนและสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
    1. เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ รฟม.) และคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (คณะกรรมการกำกับดูแลฯ) เห็นด้วยกับประเด็นเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
    2. 28 มิถุนายน 2562 คณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบผลการเจรจา
    3. 6 มกราคม 2563 คณะกรรมการกำกับดูแลฯ เห็นด้วยกับผลการเจรจา ตามมติคณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 และมีความเห็นประเด็นเจรจาเพิ่มเติม
    4. 22 มกราคม 2563 คณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบผลการเจรจาเพิ่มเติม
    5. 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการกำกับดูแลฯ รับทราบผลการเจรจาเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 โดยให้ รฟม. จัดเตรียมร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขร่วมกับ NBM และให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน (โดยมีหลักการ เช่น ต้องไม่ทำให้ รฟม. ได้รับสิทธิตามสัญญาร่วมลงทุนน้อยกว่าที่ได้รับเดิม และปรับแก้ไขเฉพาะข้อที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับผลเจรจา)
    6. 11 มีนาคม 2563คณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข
    7. 3 เมษายน 2563 คณะกรรมการกำกับดูแลฯ เห็นด้วยกับร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข ตามมติคณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563
    8. 16 เมษายน 2563 รฟม. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข
    9. 27 พฤษภาคม 2563 อส. ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
    10. 30 มิถุนายน 2563 รฟม. เสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
  4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ โดยสรุปได้ ดังนี้
    1. สคร. มีความเห็นว่าโครงการส่วนต่อขยาย เข้าข่ายเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในหมวด 7 การแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งบทเฉพาะกาลมาตรา 68 (3) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้ดำเนินการตามบัญญัติในหมวดดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
    2. อส. มีความเห็นว่า ก่อนลงนาม รฟม. ควรดำเนินการ ดังนี้
      • ตรวจสอบความถูกต้องของข้อความ/ตัวเลขให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขมีวงเล็บที่ยังไม่ได้ใส่ข้อความ/ตัวเลข
      • ตรวจสอบข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องระยะทาง การจัดเก็บรายได้ และระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการส่วนต่อขยายให้ถูกต้องครบถ้วน สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมถึงผลการเจรจาระหว่าง รฟม. และ NBM
      • ตรวจสอบเอกสารแนบท้ายสัญญาต่าง ๆ มิให้ขัดหรือแย้งกับร่างสัญญาที่ อส. ตรวจพิจารณาแล้ว
      • ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการและขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน
      • ส่งความเห็นของคณะกรรมการกำกับดูแลฯ สคร. และคณะกรรมการ รฟม. พร้อมทั้งร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ อส. ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เรียบร้อยแล้ว