Construction

“ซีแพค กรีน โซลูชัน” นำ Digital & Construction Technology สร้าง “Toyota Alive Space” 3 อาคารในเวลา 13 เดือน

ซีแพค กรีน โซลูชัน นำ Digital & Construction Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการก่อสร้างและระบบดิจิทัลที่ทันสมัย โดดเด่นทั้งด้านความรวดเร็ว คุณภาพและมาตรฐาน อีกทั้งเป็นกระบวนการก่อสร้างแบบ “Turn Waste to Value”ที่สามารถช่วยลดระยะเวลา ลดมลภาวะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมรองรับการสร้างยุคใหม่แบบ New Normal เนรมิตโครงการ “Toyota Alive Space @บางนา กม.3 รวมทั้งสิ้น 3 อาคาร ภายในระยะเวลาเพียง13 เดือน

โครงการ “Toyota Alive Space” บางนา กม.3 ไม่เพียงแค่เป็นโชว์รูมรถยนต์เท่านั้น แต่ยังเรียกว่าเป็น ‘ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้’ แห่งใหม่ใจกลางบางนาเลยก็ว่าได้ ด้วยพื้นที่ภายในที่ถูกดีไซน์ให้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่างๆ สำหรับคน ทุกเพศทุกวัยได้มาใช้บริการตลอดจนเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์

ชูโชค ศิวะคุณากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท ซีแพค คอนสตรัคชั่นโซลูชั่น จำกัด ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับโจทย์จากทางโตโยต้ามา เราก็มีการนำหลักทางวิศวกรรมหรือที่เรียกว่า Value Engineering เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ใช้เวลาน้อยที่สุด และต้องได้ฟังก์ชันงานตามต้องการหรือดีกว่าเดิม โดยการทำงานสำหรับโครงการ Toyota Alive Space ความท้าทายประเด็นแรกคือเรื่องเวลา ประเด็นที่ 2 คือต้องได้งานที่มีคุณภาพและพื้นที่ใช้สอยเป็นไปตามที่ทางลูกค้ากำหนด

สำหรับโครงการ Toyota Alive Space เป็นการทำนอกไซต์งานมากกว่า 70% โดยวางขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็นก่อนการก่อสร้าง (Pre execution phase) ด้วยการนำโซลูชัน CPAC BIM เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นการทำงานบน Collaboration Platform เพื่อสื่อสารให้เห็นภาพเดียวกัน ทั้งผู้ออกแบบ สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา รวมทั้งตัวเจ้าของงาน ตั้งแต่การวางแผนการ การเลือกวัสดุ การคำนวณการใช้พลังงาน การจัดการเรื่องเวลา ทำให้เกิดการบริหารจัดการอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงการก่อสร้าง (Execution phase) เป็นกระบวนการก่อสร้างระบบ Prefabrication โดยได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง Steel Solution by SYS ที่มีจุดเด่นด้านโครงสร้างเหล็ก สามารถเตรียมชิ้นงานจากโรงงาน (Prefabricated Steel) ที่มีคุณภาพสูง ก่อนนำมาติดตั้งที่ไซต์งานได้อย่างแม่นยำเพื่อให้เข้ากับแผ่นพื้นกลวงคอนกรีตอัดแรง (Hollow core) ที่ผลิตและควบคุมคุณภาพจากภายในโรงงานด้วยเช่นกัน

ใช้กระบวนการก่อสร้างระบบ Precast

ด้วยภารกิจหลักคือเรื่องของการติดตั้งและเวลา การมีเทคโนโลยี Digital Construction อย่าง CPAC BIM เข้ามาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงการทำงานทุกขั้นตอน ยิ่งทำให้เรามองเห็นภาพ ที่ตรงกันและชัดเจน ในขณะเดียวกันเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราได้สร้าง Ecosystem ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความชำนาญในแต่ละด้านให้เข้ามาร่วมในการดำเนินงานครั้งนี้ โดยเราจะออกแบบโครงสร้างหลัก ตัวเสา ตัวคานด้วยระบบเหล็ก ตรงนี้ก็ได้ บริษัท เหล็กสยาม ยามาโตะ จำกัด หรือ SYS เข้ามาเติมเต็ม ช่วยให้งานสมบูรณ์มากขึ้น จะเห็นได้ว่าการทำงานด้วยเทคโนโลยี Digital Construction สามารถช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ช่วยลดจำนวนคนงานแต่ยังคงรักษาประสิทธิภาพในการก่อสร้างได้เหมือนเดิม (Speed & Quality) อีกทั้งยังสามารถช่วยลดเศษวัสดุที่หน้างานได้กว่า 40% ลดแรงงานลง 50% และลดเวลาในการก่อสร้างลง 40%” ชูโชค กล่าว

ด้าน พงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS กล่าวว่า เราใช้ระบบ Bolted Connection ซึ่งเป็นการนำชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นโครงสร้าง โดยการขันสลักเกลียวและน็อตทั้งหมดต้องควบคุมโดยมืออาชีพ และเตรียมงานอย่างแม่นยำ เพื่อให้การติดตั้งที่หน้างานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาในการก่อสร้างสั้นลง นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของ SYS เพราะว่าโครงการนี้ต้องการเหล็กความยาวเป็นพิเศษถึง 21 เมตร ซึ่ง SYS ก็ผลิตโดยตรงออกมาจากโรงงาน โดยไม่มีรอยต่อเลย ทำให้คอนเวนชั่น ฮอลล์ของโครงการนี้โล่ง โปร่ง ไม่มีเสามาคั่นกลาง

สุทธิพงศ์ สมิตชาติ ประธานบริษัท ทีอาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อาร์โต จำกัด กล่าวว่า Toyota Alive Spaceเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นเร็วมาก ด้วยระยะเวลาเพียงเท่านี้กับการก่อสร้างตึก 3 ตึก ตามความต้องการของโตโยต้า ทางซีแพค กรีน โซลูชัน สามารถทำทุกอย่างได้ตามแผนงานที่ได้วางไว้ทั้งหมด โดยวิธีการทำจากข้างนอกมาประกอบ ทำให้ช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก และเป็นเทคโนโลยีที่หลายคนเห็นแล้วก็พอใจ แม้กระทั่งเสียงต่างๆ เนื่องจากสถานที่ข้างเคียงเป็นโรงพยาบาลและคอนโดมิเนียม เรื่องการร้องเรียนคือไม่มีเลย ถือว่าค่อนข้างดี

“เดิมทีโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ COVID-19 ระบาด ออฟฟิศของเราซึ่งตั้งอยู่ในเมืองก็มีคนติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเรื่องที่เป็นห่วงมากๆ โดยเฉพาะระยะเวลาในการก่อสร้างตึกใหม่ เพราะยิ่งใช้เวลานานไป เราก็ใช้พื้นที่ได้ช้าขึ้น การที่เราต้องเลือกผู้รับเหมากว่าจะได้ต้องใช้เวลา และการทำงานก็จะไม่ประสานกัน ระหว่างนั้นได้มีโอกาสคุยกับซีแพค กรีน โซลูชัน ได้เห็นระบบและโซลูชันต่างๆ ซึ่งเป็น One Stop Service คุยทีเดียวสามารถรู้โครงสร้างทั้งหมดได้ รู้เรื่องเวลา รู้ว่าติดปัญหาตรงไหน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อซีแพค กรีน โซลูชัน ได้เอาระบบ BIM เข้ามาพรีเซนต์ให้ดูก็คิดว่าค่อนข้างจะเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงค่อนข้างประทับใจในตรงนี้ด้วย” สุทธิพงศ์ กล่าว