Construction

ทล. ขยาย ทล.319 บ้านหนองบัวหมู – อ.พนมสารคาม จ.ปราจีนบุรี ใกล้แล้วเสร็จ รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกไปสู่พื้นที่อีสานและภาคกลาง

กรมทางหลวง (ทล.) โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 319 สายปราจีนบุรี – อำเภอพนมสารคาม ตอนบ้านหนองบัวหมู – อำเภอพนมสารคาม ใกล้แล้วเสร็จ ระหว่าง กม. ที่ 22+300 – 47+765 ระยะทางยาวประมาณ 21.35 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรีและศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

สำหรับทางหลวงหมายเลข 319 สายปราจีนบุรี – อำเภอพนมสารคาม ตอนบ้านหนองบัวหมู – อำเภอพนมสารคาม เป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมโยงระหว่าง 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก ซึ่งมีความสำคัญในการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ไปสู่พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งหลักเชื่อมโยงตัวเมืองจังหวัดปราจีนบุรีกับอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น โดยปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 319 สายปราจีนบุรี – อำเภอพนมสารคาม มีปริมาณจราจรค่อนข้างหนาแน่น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาด้านจราจรและอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนและวันหยุดเทศกาลต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาขยายเส้นทางคมนาคมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์ และสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

ในส่วนของโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 319 สายปราจีนบุรี – อำเภอพนมสารคาม ตอนบ้านหนองบัวหมู – อำเภอพนมสารคาม อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรีและศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 ระหว่าง กม. ที่ 22+300 – 30+538 ระยะทางประมาณ 8.23 กิโลเมตร ผิวทางเป็นแอสฟัลท์คอนกรีต และตอนที่ 2 ระหว่าง กม. ที่ 34+639 – 47+765 ระยะทางประมาณ 13.12 กิโลเมตร ผิวทางเป็นคอนกรีต ระยะทางประมาณ 21.35 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ก่อสร้างขยายจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (ไป – กลับข้างละ 2 ช่องจราจร) และบางช่วงขยายจาก 2 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป – กลับข้างละ 3 ช่องจราจร) ผิวทางเป็นแอสฟัลท์คอนกรีต ผิวจราจรกว้าง ช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางชนิดเดียวกับผิวทาง ด้านนอกกว้างข้างละ 2.5 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลาง กว้าง 5.1 เมตร รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจรและไฟกระพริบบนทางหลวง งบประมาณทั้งสิ้น 1,536,098,000 บาท

เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการสนับสนุนระบบโลจิสติกส์เข้าพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจร เกิดการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางมีผลต่อการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของประชาชน