Construction

ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพ.รฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .…

ารประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่มี พ..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป และรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ มท. เสนอว่า 

1. สืบเนื่องจาก กทม. ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจ และเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน ซึ่งระยะเวลาบังคับใช้มีกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยโครงการดังกล่าวแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง รวมระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ดังนี้ 

 1.1 ช่วงถนนทวีวัฒนาถึงซอยเพชรเกษม 69 เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ (แนวเหนือ – ใต้) ข้ามซอยเพชรเกษมตามแนวถนนทวีวัฒนาและซอยเพชรเกษม 69 

1.2 ช่วงซอยเพชรเกษม 69 ถึงถนนบางบอน 3 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

1) ขยายช่องทางจราจรบริเวณสะพานข้ามคลองภาษีเจริญ จากเดิม 2 ช่องทางจราจร ขยายเป็น 4 ช่องทางจราจร

 2) ขยายช่องจราจรบริเวณซอยเพชรเกษม 69 และถนนบางบอน 3 จากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องทางจราจร 

3) ขยายเส้นทางจราจรบริเวณแยกจุดตัดของถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือและฝั่งใต้เป็น 5 ช่องทางจราจร เพื่อให้รถสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดบริเวณแยกจุดตัดทั้ง 2 ได้  

 2. ปัจจุบันโครงการก่อสร้างดังกล่าวอยู่ระหว่างการสำรวจและดำเนินการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2561 เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มีที่ดินและโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างถูกเวนคืนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ได้ประกาศใช้อันเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทำให้การดำเนินการเวนคืนต่อไป ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ส่งผลให้การจัดกรรมสิทธิ์เพื่อให้ได้ที่ดินทั้งหมดมาดำเนินโครงการดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป อีกทั้งด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถเข้าสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างได้ โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าวมีที่ดินที่จะถูกเวนคืนประมาณ 172 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างประมาณ 130 รายการ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสำรวจที่ดิน 26 แปลง และโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 20 รายการ ยังคงเหลืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงโดยแน่ชัดเป็นที่ดินประมาณ 146 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างประมาณ 110 รายการ 

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. ที่ยังดำเนินการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มายังไม่แล้วเสร็จ กทม. จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่เพื่อกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน

    3. กทม. ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยวิธีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะเวนคืนและบริเวณใกล้เคียงก่อนการเสนอตราพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยผลสรุปประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีความพึงพอใจต่อโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร อยู่ในระดับมากที่สุด 

    4. สำนักงบประมาณ แจ้งว่า กทม. มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 – 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2569) ประมาณการค่าจัดกรรมสิทธิ์ จำนวน 509,212,000 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของ กทม. ทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ กทม. จะต้องดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงความเสี่ยง ความเสียหาย และภาระเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบด้วย 

   5. มท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม พ.ศ. 2565) [เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย] แล้ว โดยกรมการปกครองแจ้งว่าไม่ได้รับผิดชอบเขตการปกครองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตการปกครองที่ปรากฏในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ ได้ ทั้งนี้ กทม. ได้ตรวจสอบความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองแล้ว 

 สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 

กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการดำเนินการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัดต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 พ.ศ. 2561 ซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ