Construction

ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใน 5 จังหวัด พัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน เชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกทม.-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ. ….

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2565  ที่มี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแซง อำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยให้กระทรวงคมนาคม (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ตรวจสอบและแก้ไขแผนที่ท้ายของร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ดังกล่าว ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้ดำเนินการต่อไปได้  

โดยให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย นอกจากนี้ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติกรณีการตราร่างกฎหมายที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย ให้หน่วยงานของรัฐผู้เสนอร่างกฎหมายทำการตรวจสอบความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองที่จำเป็นต้องระบุในเนื้อหาของร่างกฎหมาย และแผนที่ท้ายอันเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดเชิงพื้นที่ให้เป็นปัจจุบัน และต้องมีผลตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองจากกรมการปกครองเสนอมาพร้อมกับร่างกฎหมายนี้ด้วย ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทาง และสิ่งจำเป็นอื่นตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้ว และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว โดยร่างพระราชกฤษฎีกามีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี และให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด โดยการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีการเวนคืนที่ดินประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลังเพื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ขนาดทาง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร โดยเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ จำนวน 4 สถานี และศูนย์ควบคุมการเดินรถและซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 1 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง และก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอดและทางคนลอดใต้ทางรถไฟแทน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยประเมินมูลค่าโครงการแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 179,412.21 ล้านบาท (ค่ารื้อย้ายและเวนคืน สัญญา งานโยธา) ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยให้มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ อันเป็นการเสริมศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดแผนการดำเนินโครงการคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2569 และสำนักงบประมาณแจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้ว

             สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแซง อำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง อำเภอ  สีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทางและสิ่งจำเป็นอื่นตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ