Wednesday, April 17, 2024
News

ส.อ.ท. ชูนวัตกรรมก่อสร้างอาคารยุคใหม่ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตฯ วัสดุก่อสร้างไทย

กรุงเทพฯ : คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางและโอกาสของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย และนวัตกรรมการออกแบบและก่อสร้างอาคารยุคใหม่” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ณ อาคาร O-NES TOWER สุขุมวิทซอย 6

วิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) กล่าวว่างานสัมมนาครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผ่านความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวโน้มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม

“คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างของ ส.อ.ท. จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นแนวคิดการออกแบบใหม่สำหรับผู้ออกแบบไทย โดยคำนึงถึงการออกแบบที่เป็นระบบอุตสาหกรรมมาตรฐานสากล และคำนึงถึงการประกอบติดตั้งที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) ผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อสร้างการเชื่อมโยงในตัวออกแบบและโครงสร้าง ซึ่งไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง และการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วิกรม กล่าว

นอกจากนี้ คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างของ ส.อ.ท. ยังสะท้อนแนวโน้มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งมีผลต่อการจ้างงานและมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นวงกว้าง โดยภาพรวมอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างของไทยในปัจจุบันถือว่ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี พ.ศ.2566-2567 นี้ คาดการณ์ว่าจะเติบโตตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridors: EEC) ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามกำลังซื้อที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่คืบหน้ามากขึ้น” วิกรม กล่าว

วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด รวมถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“สำหรับทิศทางธุรกิจของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและผู้รับเหมาก่อสร้างไทย เป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกอบการรวมถึงผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมก่อสร้างควรรับทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ วางแผนสำหรับการประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งปรับตัวอย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับภูมิภาค” วิวรรธน์ กล่าว

นอกจากความท้าทายจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมกับมาตรการการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่จะส่งผลต่อการผลิตและการพัฒนาวัสดุให้สอดคล้องกับมาตรการ อีกทั้งยังต้องประสบกับความต้องการของลูกค้าทั้งในตลาดภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเน้นการก่อสร้าง และโครงสร้างอาคารที่จะมุ่งสู่ Green Building ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่นักอุตสาหกรรม นักออกแบบ และผู้รับเหมา

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต 13 กลุ่ม อาทิ แก้วและกระจก แกรนิตและหินอ่อน เคมี เซรามิก เทคโนโลยีชีวภาพ ปูนซีเมนต์ พลาสติก ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น โรงเลื่อยและโรงอบไม้ เหล็ก หลังคาและอุปกรณ์ อะลูมิเนียม เป็นต้น รวมทั้งยังมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 5 ภูมิภาค และมีการบูรณาการร่วมกันอย่างครอบคลุมและรอบด้าน ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่

โดย ส.อ.ท. มีนโยบาย One FTI ที่จะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ในโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ SAI (Smart Agricultural Industry) หรือโครงการความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่ต้องการยกระดับพื้นที่สู่ Smart City จากการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตทั้งระบบให้ยั่งยืน

กีรติญา ครองแก้ว นักวิเคราะห์ ฝ่าย Industry Analysisธนาคารไทยพาณิชย์

ภายในงานมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางและโอกาสของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย” โดย กีรติญา ครองแก้ว ธนาคารไทยพาณิชย์, “DFMA (Design For Manufacturing Assembly)” โดย ธานินทร์ ศรีเบญจรัตน์ ที่ปรึกษาคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ส.อ.ท. “เตรียมให้พร้อม…ก้าวสู่ 2024 Thailand’s New Era of Low Carbon Cement” โดย ดร.วันเฉลิม ชโลธร ประธานคณะทำงาน TCMA on Sustianabilityสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และ “นวัตกรรมการออกแบบและก่อสร้างอาคารยุคใหม่ กรณีศึกษาอาคาร O-NES TOWER” โดย พรชัย สิทธิยากรณ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นันทวัน จำกัด (THAI OBAYASHI) ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาอย่างคับคั่ง

ธานินทร์ ศรีเบญจรัตน์ ที่ปรึกษาคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ส.อ.ท.
ดร.วันเฉลิม ชโลธร ประธานคณะทำงาน TCMA on Sustianability สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย
พรชัย สิทธิยากรณ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นันทวัน จำกัด (THAI OBAYASHI)

นอกจากนี้ยังมีการจัดบูธแสดงสินค้าด้านวัสดุก่อสร้างจากบริษัทชั้นนำ อาทิ SCG บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (WCE) ผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมการจัดการงานซ่อมบำรุงโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น