Saturday, April 20, 2024
Latest:
News

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จับมือ คณะวิศวฯ จุฬาฯ เปิดตัว “มาตรฐานงานก่อสร้างบ้านพักอาศัย” ครั้งแรกในไทย

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย” เพื่อยกระดับคุณภาพบริการรับสร้างบ้านครั้งแรกในไทย สร้างความเชื่อมั่นและให้เป็นบรรทัดฐานในการก่อสร้างที่ถูกต้องปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เตรียมประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าว ภายในสิ้นปี พ.ศ.2565 นี้

วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า จากการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจสร้างบ้านเองและใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดสถานการณ์ COVID-19 แม้ว่าจะมีปัจจัยลบทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น และราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประมาณ 20-25% สำหรับบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลักดันการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านของสมาคมฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสมาคมฯ มีสมาชิกต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาษีที่ดิน ก็เป็นตัวเร่งให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีความพร้อมทางการเงินอยู่แล้วให้สร้างบ้านเร็วขึ้น ประกอบกับหากชะลอการตัดสินใจราคาอาจแพงขึ้นด้วย ทำให้ในปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาดสร้างบ้านผ่านสมาชิกของสมาคมฯ อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าต้นปี พ.ศ.2565 ที่ทางสมาคมฯ คาดว่าจะมีมูลค่าเพียง 12,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ภาพรวมตลาดสร้างบ้านทั่วประเทศอยู่ที่ปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท

“การสร้างบ้านเองของผู้บริโภคก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาและเกิดการร้องเรียนมากมาย เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านมักจะทิ้งงาน สร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ที่ถูกต้อง วัสดุก่อสร้างไม่ตรงกับที่สเปกตามแปลนบ้าน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่เจ้าของบ้านทำสัญญาทั้งจ้างแรงงานและซื้อของ ที่ผู้รับเหมามักใช้วัสดุเกรดต่ำกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น บางทีมีผลกระทบกับการใช้งานวัสดุบางตัวเกรดต่ำหมดอายุก่อนเวลา เมื่อผู้บริโภคอาศัยอยู่ไปไม่นานก็จะเกิดปัญหามากมาย ทั้งฝ้า เพดานทรุด อีกทั้งวัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานสึกกร่อนก่อนเวลาอันควร เป็นต้น

วรวุฒิ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้สมาคมฯ ได้เร่งพัฒนาคุณภาพให้กับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนามาตรฐานก่อสร้างบ้านพักอาศัย ซึ่งยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน โดยสมาคมฯ ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อยกระดับมาตรฐานรับสร้างบ้าน ส่งเสริมความยั่งยืนให้กับธุรกิจรับสร้างบ้านของไทย สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น โดยมาตรฐานฯ ฉบับนี้จะมีการระบุข้อมูลของผู้ดำเนินการและหน้าที่ความรับผิดชอบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงาน การตรวจสอบคุณภาพ การปรับปรุงแก้ไข และข้อควรระวัง เป็นต้น ทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าวเตรียมประกาศใช้ภายในสิ้นปี พ.ศ.2565 นี้ เบื้องต้นจะใช้สำหรับสมาชิกของสมาคมฯ ก่อน ภายในต้นปี พ.ศ. 2566 และจะทยอยประกาศใช้กับผู้รับสร้างบ้านรายอื่นๆที่เหลือซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ต่อไป

ดรสุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาที่สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านและหน่วยงานอื่นๆ จำนวนมาก เช่น ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน สร้างไม่ตรงแบบแปลนบ้าน วัสดุก่อสร้างไม่ตรงกับสเปกที่ระบุไว้ในแบบบ้าน เบิกเงินก่อนล่วงหน้าแล้วละทิ้งงาน ผู้รับเหมาเปลี่ยนทีมช่างบ่อยทำให้ได้งานที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน ผู้รับเหมาขาดความรับผิดชอบ หลังจากมีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างแล้ว มักจะติดต่อยากและโกงเงินมัดจำ ผู้รับเหมาบางรายจะเรียกเงินมัดจำก้อนแรกสูงๆ เมื่อได้เงินมัดจำไปแล้วก็จะทำงานช้าๆ ทำให้เจ้าของงานเบื่อหน่าย จนต้องเปลี่ยนผู้รับเหมาในที่สุด ทำให้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้เข้ามาปรึกษาปัญหาดังกล่าวกับภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปลายปี พ.ศ.2563 เพื่อจัดทำคู่มือสำหรับใช้เป็นแนวทางที่เป็นมาตรฐานสำหรับการก่อสร้างบ้านพักอาศัยขึ้น ซึ่งทางคณะผู้ร่วมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รวบรวมข้อมูล ปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้างบ้าน รวมทั้งข้อกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานต่อไป

(กลาง) รศ.ดร.ธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการทำงานตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ มาตรฐานตามกฎหมายควบคุมอาคาร มาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานการก่อสร้างที่คนทั่วไปและสากลยอมรับ มาตรฐานที่เป็นไปตามสัญญาการว่าจ้างและมาตรฐานที่เป็นไปตามวัสดุที่ใช้ ควรมีการตรวจสอบคุณภาพของงานทางสถาปัตยกรรม และจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำงานเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนส่งมอบงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถพัฒนากระบวนการทำงานและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจถูกฟ้องร้องในอนาคตได้ เนื่องจากงานสร้างบ้านเป็นงานฝีมือและจำเป็นต้องใช้ทักษะ รวมทั้งการบริหารจัดการ เพื่อให้งานก่อสร้างบ้านมีคุณภาพให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของโครงการและผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้มาตรฐานดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าของโครงการมีความเชื่อมั่นในการทำงานของผู้รับเหมา โดยขั้นตอนงานก่อสร้างที่สำคัญซึ่งบรรจุอยู่ในมาตรฐานการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย งานเตรียมการ งานดินและงานเข็ม งานคอนกรีต งานก่อ งานโลหะ งานฉนวนกันความร้อนและความชื้น งานประตูหน้าต่าง งานบันไดเสริมคอนกรีต งานตกแต่งผิว งานระบบท่อ งานฝ้าเพดาน งานทาสี งานปูกระเบื้อง การขุดเจาะเสาเข็มตามจุดที่กำหนดในแปลนบ้านงานระบบไฟฟ้า งานระบบติดตั้งโคมช่องเซอร์วิสต่างๆ งานติดตั้งประตูหน้าต่างและงาน Build-In เป็นต้น