News

รฟม. แจงผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2563 มีกำไรสุทธิสูงขึ้น 55.33% เตรียมเพิ่มตั๋วโดยสารประเภท Pass สร้างรายได้ทดแทนช่วง COVID-19

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2563 นโยบายของคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) และโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 73 ที่บัญญัติให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงานในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการฯ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 (ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563)

1.ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มีผลการดำเนินการ ดังนี้  โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มี 4 โครงการ ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว2.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้า ในขณะอยู่ระหว่างงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและงานศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ สำหรับงานก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้า 69.82% (เร็วกว่าแผน 2.77%) ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 3.รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าในส่วนของงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและส่งมอบพื้นที่โครงการแล้วเสร็จ สำหรับงานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า และ 4.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ผลการดำเนินงานขณะนี้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ สำหรับงานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า 64.27% (เร็วกว่าแผน 5.14%) และคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2565

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา 1โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าในส่วนของงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้า 19.20% (ตามแผน) งานศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ มีความก้าวหน้า 48.80% (ตามแผน) นอกจากนี้รฟม. อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2570

ในส่วนของโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ มี 5 โครงการ ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้า ในส่วนงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้า 8.60% (ตามแผน) งานขออนุมัติโครงการและศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ แล้วเสร็จและงานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า 9% (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2570 2.รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้า ในส่วนงานศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ แล้วเสร็จ งานเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนมีความก้าวหน้า 15% (ตามแผน) งานคัดเลือกที่ปรึกษามีความก้าวหน้า 20% (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2569 3.รถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้า ในส่วนงานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ งานเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนมีความก้าวหน้า 30% (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2571 4.รถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้า ในส่วนงานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2571และ5.รถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ซึ่งให้อำนาจ รฟม. ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก ข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564) ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างข้อกำหนดและขอบเขตงานเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2571

นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินการอื่น ๆ เช่น 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) อยู่ระหว่างตรวจพิจารณาแบบรายละเอียดฐานรากและเอกสารประกวดราคาให้สอดคล้องกับแบบก่อสร้างและเอกสารประกวดราคาของโครงการระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2. การศึกษาออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้า ดำเนินการแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาระบบเชื่อมต่อการเดินทาง และ 3. โครงการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ตั๋วร่วม ได้ชะลอการนำเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay, Mastercard, Visa) คือการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต/เดบิตที่ออกโดยธนาคาร มาใช้กับระบบตั๋วร่วมเพื่อเร่งพัฒนาการเชื่อมต่อระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) ทั้งนี้ ประชาชน 86.90% มีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุดต่อมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจราจรจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า (เป้าหมาย 90%)   

2.ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง มีผลการดำเนินงาน ดังนี้ 1.เส้นทางรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล มีผู้โดยสารเฉลี่ย 283,933 คน/เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้น 23.85% (เป้าหมาย เพิ่มขึ้น 5.00%) ความพึงพอใจของผู้ให้บริการ 80.85% (เป้าหมาย 70.35%) และ 2.เส้นทางรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม มีผู้โดยสาร 46,114 คน/เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้น 28.08 (เป้าหมายเพิ่มขึ้น 7.00%) ความพึงพอใจของผู้ให้บริการ 76.40% (เป้าหมาย 65%)

3 ด้านการเงิน รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,819.25 ล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 150,000 บาท) โดยมีรายได้ 14,876.97 ล้านบาท (เงินอุดหนุน 10,190.02 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายรวม 13,057.72 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 99.99% (คณะรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมาย 95%) นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 123.72 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.69 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 27.51 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สูงกว่าเป้าหมาย 2.33 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return On Asset: ROA) 0.90% (เป้าหมาย 0.59%) รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงสร้างงบกำไรขาดทุนของ รฟม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว   

4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยพนักงาน 96.81% มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด (เป้าหมาย 95.90%) และมีระดับความผูกพันเท่ากับ 4.20 (เป้าหมายเท่ากับ 3.67) นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินงานตามแผนต่าง ๆ เช่น แผนพัฒนาปรับปรุงองค์กรและแผนพัฒนาองค์กร แผนพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารก่อสร้าง การบริหารโครงการและการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การรักษาความปลอดภัยและกู้ภัยในเขตระบบรถไฟฟ้าและระบบราง และแผนพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562) รฟม. มีคะแนนผลการดำเนินงานสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลการประเมินสูงเป็นอันดับหนึ่งจากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 53 แห่ง ทั้งนี้ ในส่วนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ระหว่างที่ปรึกษาของระบบการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลังประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง      

5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการแสดงความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและมีจริยธรรมของผู้นำระดับสูง เช่น การจัดงานวันธรรมาภิบาล การแสดงรายการรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใด ตามกรอบเวลาที่กำหนด การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และแนวทางการป้องกันแก้ไข ทั้งนี้ ในปี 2563 รฟม. มีผลประเมินคุณธรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) อยู่ในลำดับที่ 3 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค. เท่ากับ 88.01 คะแนน (ปี 2562 เท่ากับ 88.96 คะแนน) 
                  

นโยบายของคณะกรรมการฯ เช่น ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา ประหยัด โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผนงาน ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากระบวนการทำงานภายในองค์กร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบนโยบายเพื่อให้ รฟม. ใช้ประกอบการกำหนดทิศทางขององค์การที่ชัดเจนและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563


โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต  
            1. ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 โครงการ อยู่ระหว่างการประกวดราคา 1 โครงการ และอยู่ระหว่างศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2564 – 2566 จำนวน 5 โครงการ โดยมีเป้าหมายว่าการดำเนินงานจะต้องมีความสำเร็จตามแผน และประชาชน 90% ต้องมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุดต่อมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าฯ ในปี พ.ศ. 2564 และปีพ.ศ. 2565 นอกจากนี้ มีแผนที่จะพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางสายฉลองรัชธรรม บริเวณสถานีพระนั่งเกล้า – ท่าเรือพระนั่งเกล้า โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปีพ.ศ. 2564 รวมทั้งยังมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ระบบตั๋วร่วมโดยจะพัฒนาระบบตั๋ว EMV ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 
           2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยมีเป้าหมายความพึงพอใจของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและบริการเสริมอื่น ๆ ในระดับมาก – มากที่สุดและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ดังนี้ สายเฉลิมรัชมงคล เป้าหมายความพึงพอใจในปี พ.ศ.2564 อยู่ที่ 71.35% และปี พ.ศ.2565 อยู่ 72.35% ในส่วนของเป้าหมายการเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร วางเป้าหมายไว้ 5% ต่อปี และสายฉลองรัชธรรม เป้าหมายความพึงพอใจในปี พ.ศ.2564 อยู่ที่ 66.50% และปี พ.ศ. 25645 อยู่ที่ 68.00% ในส่วนของเป้าหมายการเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร วางเป้าหมายไว้ 7% ต่อปี

            3 ด้านการเงิน รฟม. มีแผนที่จะหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 5% ในแต่ละปี โดยในปี พ.ศ. 2564 จะมีรายได้ประมาณ 169 ล้านบาท (สายเฉลิมรัชมงคล 139 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 30.91 ล้านบาท) และในปีพ.ศ. 2564 และ ปีพ.ศ.2565 จะมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ร้อยละ 0.72 และ 0.90 ตามลำดับ นอกจากนี้ มีแผนที่จะบริหารจัดการทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา   
           4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล โดยในปี 2564 และ 2565 บุคลากรต้องผ่านเกณฑ์ประเมินสมรรถนะ 96% และ 91.60% ตามลำดับ บุคลากรมีความผูกพันที่ระดับ 3.72 และ 3.77 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2564 จะมีการพัฒนาและทดสอบการใช้งานระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ภายในปี พ.ศ. 2565 รวมทั้งมีแผนการดำเนินการอื่น ๆ เช่น แผนพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารงานก่อสร้าง การบริหารโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย แผนการจัดการความรู้ด้านการเดินรถไฟฟ้า และแผนการฝึกอบรมบุคลากรระบบราง  
          5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กรใน 4 มิติ และพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านนี้ โดยในปี พ.ศ. 2564 และปี พ.ศ. 2565 จะต้องมีผลการประเมิน ITA อยู่ที่ 91% และ 92% ตามลำดับ


กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการ 5 เรื่องสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID -19 ส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รฟม. ยังคงรักษามาตรฐานการดำเนินงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยผลกำไรสุทธิในปีพ.ศ. 2563 สูงกว่าปี พ.ศ. 2562 ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ถึง 55.33% รวมทั้งสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ถึง 99.99%

เพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. ในปี พ.ศ. 2563 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้ความสำคัญกับการหารายได้เชิงพาณิชย์และใช้แนวทางด้านการตลาด เช่น การออกตั๋วโดยสารประเภทพาส (Pass) เพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ทดแทนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19  2. เร่งดำเนินการประกวดราคา/คัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนสำหรับรถไฟฟ้าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)   3. เร่งก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารผลกระทบต่อการจราจรในทุกมิติ รวมทั้งควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5  ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด   4. เร่งพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นให้สามารถใช้งานได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมตามมาตรฐาน EMV และการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งทางน้ำบริเวณสถานีพระนั่งเกล้า   และ5 เร่งรัดการเชื่อมต่ออุโมงค์สถานีบางซื่อ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล กับสถานีกลางบางซื่อ ให้ทันกับการเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในเดือนกรกฎาคม 2564