Saturday, April 27, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่10 มกราคม พ.ศ.2566ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน (โดยวิธีการอนุญาต) (ร่างสัญญาฯ) สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา (โครงการฯ) ตามนัยมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 25562ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำสงขลานั้น เห็นควรให้กรมเจ้าท่าทบทวนวงเงินงบประมาณ และสำรวจปริมาณตะกอนดินในร่องน้ำอีกครั้งให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นขอให้กรมเจ้าท่าจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการฯ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2554) กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการฯ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/1/2559 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2559ให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการฯ โดยวิธีการประมูล ต่อมากรมธนารักษ์ได้มีประกาศเชิญชวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562โดยมีผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน 2 ราย ได้แก่ กิจการร่วมค้าสมิหลา และบริษัทเจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด (บริษัทฯ) โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย ได้ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งในด้านคุณสมบัติ (ซองที่ 1) ข้อเสนอด้านเทคนิคและการลงทุน (ซองที่ 2) และข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน (ซองที่ 3) แต่บริษัทฯ เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด โดยมีข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน ดังนี้

1) มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของผลประโยชน์ตอบแทน (ตลอดอายุสัญญา 25 ปี) (ล้านบาท) (อัตราคิดลดร้อยละ 5) ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 1,418.324 ล้านบาท ข้อเสนอ 1,906.891 ล้านบาท

2) ค่าตอบแทนล่วงหน้า (ล้านบาท) ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 425.497 ล้านบาท ข้อเสนอ 488.888 ล้านบาท

3) ค่าตอบแทนรายปี รวม (ล้านบาท) ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 1,892.306 ล้านบาท ข้อเสนอ 2,881.000 ล้านบาท4) ค่าตอบแทนเพิ่มเติม (ร้อยละของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการปรับอัตราค่าภาระของท่าเรือ3) ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 45 ล้านบาท ข้อเสนอ 45 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ตอบแทนตลอดอายุสัญญา 25 ปี ที่บริษัทฯ เสนอ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 1,906.891 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการฯ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2554ตามผลการศึกษาของกรมธนารักษ์ที่มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 1,418.324 ล้านบาท ทำให้ภาครัฐได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิมกว่าร้อยละ 34.44ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติเจรจาต่อรองกับบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้เสนอที่จะพัฒนาระบบการขนถ่ายจัดวางตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนถ่ายสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือสงขลา ทำให้งบลงทุนเพิ่มขึ้น 159 ล้านบาท (รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,387.95 ล้านบาท) คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติให้บริษัทฯ เป็นเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก

2. กรมธนารักษ์ได้ส่งผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณา ตามนัยมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556โดย สคร. และ อส. ได้เสนอความเห็น/ข้อสังเกตต่อกรมธนารักษ์ เช่น กรมธนารักษ์ควรจัดทำคำชี้แจงเกี่ยวกับความเหมาะสมของแผนการลงทุนและรายการลงทุนตามโครงการฯ เพื่อใช้ประกอบการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (สคร.) และให้ตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมของประเด็นทางเทคนิค ก่อนที่จะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนตามขั้นตอนต่อไป (อส.)    เป็นต้น ซึ่งกรมธนารักษ์ได้จัดทำข้อมูลชี้แจงความเห็น/ข้อสังเกตดังกล่าวแล้ว

3.สรุปสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ มีดังนี้

1) วัตถุประสงค์ของโครงการฯ : เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการขนถ่ายสินค้าของท่าเรือสงขลาเพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกของภาคใต้ในอนาคต โดยจะต้องสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ที่มีสายเดินเรือไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศญี่ปุ่นซึ่งไม่มีเครนประจำเรือ ให้สามารถเข้าจอดเพื่อรับส่งสินค้าโดยตรงได้ และสามารถแข่งขันกับท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศและกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้รับรายได้จากค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการขยายตัวของจำนวนสินค้าผ่านท่าเรือสงขลาภายหลังจากการพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือสงขลาแล้ว

2) หน้าที่ของฝ่ายรัฐ : ติดต่อประสานงานกับกรมเจ้าท่าเพื่อขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกและรักษาความลึกของร่องน้ำสงขลาให้อยู่ในระดับ 9 เมตร ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของ กค. ในเรื่องดังกล่าวรวมถึงกรณีที่มีการจัดสร้างท่าเรือคู่แข่ง การจัดหาเรือลากจูง และนโยบายของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการท่าเรือสงขลาไว้ เพื่อป้องกันการฟ้องร้องต่อคู่สัญญาฝ่ายรัฐ อันเป็นการจำกัดขอบเขตหน้าที่ของ กค. แล้ว

3) หน้าที่ของฝ่ายเอกชน : วางหลักประกันสัญญาในรูปแบบของหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งปวงของบริษัทตามสัญญาไม่ต่ำกว่า 185.400 ล้านบาท ดำเนินการออกแบบ พัฒนา และปรับปรุงท่าเรือสงขลาตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐให้ความเห็นชอบ ดูแลและรับผิดชอบให้พื้นที่โครงการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ชำระผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญา รับผิดชอบและชำระค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการสาธารณะอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการและบริหารกิจการท่าเรือให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ รวมถึงคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสำหรับการบริหารท่าเรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการท่าเรือ

4) ผลประโยชน์ตอบแทนตลอดอายุสัญญา 25 ปี : มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของผลประโยชน์ตอบแทน1,906.891 ล้านบาท

ค่าตอบแทนล่วงหน้488.888 ล้านบาท ค่าตอบแทนรายปีรวม 2,881.000 ล้านบาทและค่าตอบแทนเพิ่มเติม ร้อยละ 45 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีการปรับอัตราค่าภาระของท่าเรือ

5) งบลงทุนทั้งหมด : จำนวน2,387.90 ล้านบาท

6) อายุของสัญญาและการต่ออายุของสัญญา : สัญญาฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา และให้มีผลบังคับใช้จนครบกำหนดระยะเวลา 25 ปี หรือจนกว่าสัญญาฉบับนี้สิ้นสุดลง ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม (แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน) การขยายหรือต่ออายุของสัญญาฉบับนี้ รวมถึงการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเป็นการขยายหรือต่ออายุของสัญญาฉบับนี้ไม่สามารถกระทำได้

7) การโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างของโครงการ : บรรดาสิ่งปลูกสร้างของโครงการฯ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายรัฐทันทีที่การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างของโครงการแล้วเสร็จ โดยปลอดจากการรอนสิทธิหรือภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น และคู่สัญญาฝ่ายรัฐไม่ต้องชำระเงินตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ คู่สัญญาฝ่ายรัฐตกลงอนุญาตให้บริษัทมีสิทธิใช้ประโยชน์ในบรรดาสิ่งปลูกสร้างของโครงการดังกล่าวตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในสัญญาฉบับนี้ บริษัทจะต้องดำเนินการทุกประการที่จำเป็นหรือตามที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐกำหนด รวมถึงการจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐจะกำหนดและแจ้งให้บริษัททราบและบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบบรรดาภาษี ค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดจากการส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวทั้งหมด

8) เหตุสุดวิสัย เหตุที่ได้รับการผ่อนผัน : เมื่อมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งในสัญญาฉบับนี้ได้ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมแสดงหลักฐานที่ครบถ้วนชัดเจนและเชื่อถือได้ เพื่อสนับสนุนคำร้องขอของตน คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมกันพิจารณาถึงการร้องขอนั้นโดยมิชักช้า เพื่อหาทางป้องกันหรือแก้ไขโดยเร็วอย่างเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย หากเป็นเรื่องที่พึงบรรเทาความเสียหายระหว่างกันได้ ก็ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันตามนั้น เพื่อให้โครงการฯ สามารถดำเนินต่อไปได้

9) การระงับข้อพิพาท : ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อกำหนดของสัญญาฉบับนี้ หรือการปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการตามวิธีการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการ และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ ภายหลังจากการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ บริษัทสามารถนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาและตัดสินของศาลไทยที่มีเขตอำนาจได้

4.กรณีการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำสงขลาให้อยู่ที่ระดับ 9 เมตซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินโครงการฯเป็นการดำเนินภารกิจตามหน้าที่และอำนาจของกรมเจ้าท่าโดยกรมเจ้าท่าจะดำเนินการขุดลอกร่องน้ำท่าเรือสงขลาเป็นประจำทุกปี แต่ขุดได้เพียง 7 – 9 เดือน เพราะช่วงระยะเวลาที่เหลือเป็นช่วงฤดูมรสุมไม่สามารถดำเนินการขุดลอกได้ แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดด้านงบประมาณซึ่งทำให้ไม่สามารถรักษาความลึกของร่องน้ำที่ระดับดังกล่าวได้ โดยกรมเจ้าท่าได้รับงบประมาณให้ขุดลอกเพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร       (60 ล้านบาท/ปี) ในขณะที่ต้องใช้งบประมาณในการขุดลอกดินประมาณ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร (78 ล้านบาท/ปี) จึงจะสามารถรักษาความลึกของร่องน้ำที่ระดับ 9 เมตรได้ ดังนั้น กรมเจ้าท่าจึงได้ส่งแผนการขุดลองร่องน้ำท่าเรือสงขลาในกรอบระยะเวลา 25 ปี ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อประกอบการพิจารณา

5.ผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการฯ

5.1การดำเนินโครงการฯ จะก่อให้เกิดรายได้รวมทั้งสิ้น 7,357.78 ล้านบาท (ตลอดอายุสัญญา 25 ปี) ประกอบด้วย (1) งบลงทุนของเอกชนในการปรับปรุงท่าเรือสงขลา จำนวน 2,387.90 ล้านบาท (2) ค่าตอบแทนรายปีที่เอกชนต้องชำระให้กับทางราชการ จำนวน 2,881.00 ล้านบาท (3) ค่าตอบแทนล่วงหน้า จำนวน 488.88 ล้านบาท และ (4) ค่าตอบแทนเพิ่มเติม (ร้อยละ 45 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการปรับอัตราค่าภาระของท่าเรือ) จำนวน 1,600.00 ล้านบาท

5.2ผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

1) ท่าเรือสงขลาจะสามารถรองรับขนาดเรือที่เข้าใช้บริการท่าเรือน้ำลึกสงขลาได้มากขึ้น รวมทั้งรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์และน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น

2) ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนขนย้ายสินค้าส่งออก นื่องจากสามารถบรรทุกสินค้าส่งออกทางเรือไปยังประเทศปลายทางได้โดยตรง

3) ผู้ใช้ร่องน้ำรายอื่นที่ใช้ร่องน้ำร่วมกันจะได้รับประโยชน์จากการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำสงขลานี้ด้วย เช่น กลุ่มเรือเดินเข้าออกท่าเรือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

4) สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางทะเล รองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือน้ำลึกสงขลา และเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างให้สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ธุรกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและท้องถิ่น

6. เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาฯ และกรมธนารักษ์ดำเนินการลงนามในสัญญากับบริษัทฯ แล้ว กรมธนารักษ์จะแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ เพื่อดำเนินการให้โครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้

6.1ติดตามและประเมินผลโครงการฯโดยให้บริษัทฯ ดำเนินการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือ (Port Facilities) ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ตามข้อเสนอเทคนิคและการลงทุนที่บริษัทฯ เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ

6.2พิจารณาเงื่อนไขและสูตรการคำนวณค่าตอบแทนรายปีเพิ่มเติมจำนวนร้อยละ 45 ของรายได้ส่วนที่เกินจุดคุ้มทุนรวมทั้งมีกลไกในการตรวจสอบความถูกต้องของค่าตอบแทนรายปีเพิ่มเติมดังกล่าว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยอาจให้บริษัทฯ ทำรายงานเกี่ยวกับรายรับและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานท่าเรือที่จะใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณจุดคุ้มทุนเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลค่าตอบแทนรายปีเพิ่มเติมที่บริษัทฯ เสนอ หรือสามารถคำนวณและสอบทานการคำนวณของบริษัทฯ ในการกำหนดค่าตอบแทนได้ รวมทั้งพิจารณาเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ และรายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการแก้ไขต่อกรมธนารักษ์