Saturday, April 27, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย – ซาอุดีอาระเบีย เพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม. มีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย – ซาอุดีอาระเบีย (บันทึกความเข้าใจฯ) และเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. คณะผู้แทนประเทศไทยและประเทศซาอุดีอาระเบียได้จัดการประชุมเจรจาร่วมกันเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2565 ณ กรุงเทพมหานคร และได้จัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว ในคราวการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต (เนื้อหาของหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตมีสาระสำคัญเหมือนกับบันทึกความเข้าใจฯ)

2. บันทึกความเข้าใจฯ และหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตที่เสนอในครั้งนี้ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • 2.1 พิกัดเส้นทางบิน สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินตามเส้นทาง ดังต่อไปนี้
    • ไทย จุดใดๆ ในไทย – จุดระหว่างทางใดๆ – จุดต่างๆ ในซาอุดีอาระเบีย – จุดพ้นใดๆ
    • ซาอุดีอาระเบีย จุดใดๆ ในซาอุดีอาระเบีย – จุดระหว่างทางใดๆ – จุดต่างๆ ในไทย – จุดพ้นใดๆ
  • 2.2 ความจุความถี่ สายการบินที่กำหนดสายหนึ่งหรือหลายสายของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินด้วยสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพ ที่ 3 และ 4 โดยไม่จำกัดแบบอากาศยาน ไปยัง/มาจากจุดต่างๆ ที่ระบุในพิกัดเส้นทางการบิน ดังนี้
    • เที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร: ไม่เกิน 42 เที่ยวบิน/สัปดาห์
    • เที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้า: ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบิน (สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 จะต้องมีการตกลงกันทั้ง 2 ฝ่าย)
  • 2.3 การทำการบินเที่ยวบินเช่าเหมาลำ สายการบินของภาคีทั้งสองฝ่ายต้องขออนุญาตในการทำการบินเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ และการให้บริการนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการทำการบินแบบประจำ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของภาคีทั้งสองฝ่าย
  • 2.4 การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินในเส้นทางที่ตกลงกัน (ตามพิกัดเส้นทางบิน) โดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันในลักษณะ
    • 1) ร่วมกันกับสายการบินของภาคีเดียวกัน
    • 2) ร่วมกันกับสายการบินระหว่างคู่ภาคี เพื่อ
      • (2.1) ทำการบินช่วงเส้นทางบินระหว่างประเทศ (International Sector)
      • (2.2) ทำการบินช่วงเส้นทางบินภายในประเทศ (Domestic sector) โดยจะต้องเป็นการจราจรต่อเนื่องไปยัง/มาจากบริการระหว่างประเทศของตน
    • (3) ร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สาม ทั้งนี้ การนับหักสิทธิความจุความถี่จะหักจากสิทธิของประเทศที่กำหนดสายการบินผู้ดำเนินบริการเท่านั้น (Operating Airline)
  • 2.5 การใช้อากาศยานเช่า สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายอาจเช่าอากาศยาน [หรืออากาศยานพร้อมลูกเรือ (Wet Lease)] จากบริษัทหรือสายการบินใดๆ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่ก่อให้เกิดการแฝงสิทธิของสายการบินผู้ให้เช่าอากาศยาน นอกจากนี้ ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจห้ามการใช้อากาศยานเช่าที่ไม่เป็นไปตามข้อบทเรื่องความปลอดภัยด้านการบิน (Aviation Safety) และการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน (Aviation Security) ของบันทึกความเข้าใจฯ ปี พ.ศ.2548และการอนุมัติการเช่าอากาศยานพร้อมลูกเรือ (Wet Lease) สำหรับการทำการบินประจำฤดูกาล เจ้าหน้าที่การเดินอากาศจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
  • 2.6 การกำหนดสายการบิน ทั้งสองฝ่ายยืนยันให้ภาคีแต่ละฝ่ายสามารถแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดได้หลายสาย
  • 2.7 เรื่องอื่นๆ คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหารือและปรับปรุงความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศในการเจรจาการบินครั้งต่อไป
  • 2.8 การมีผลใช้บังคับ บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตและข้อกำหนดในบันทึกความเข้าใจฯ จะแทนที่ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในบันทึกความเข้าใจฯ ปี พ.ศ. 2548 ยกเว้นวรรค 2.1 และเอกสารแนบ (ค) และ (ง) ของบันทึกความเข้าใจฯ ปี พ.ศ. 2548 โดยระหว่างรอให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลใช้บังคับ เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของทั้งสองฝ่ายอาจพิจารณาอำนวยความสะดวกแก่สายการบินในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้

3.ประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการเจรจาดังกล่าว การปรับปรุงสิทธิการบินระหว่างสองประเทศในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การทำการบินของสายการบินของทั้งสองฝ่ายมีความคล่องตัว เพิ่มความยืดหยุ่นในการวางแผนการตลาดให้การให้บริการของสายการบินเกิดความคุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสารด้วย นอกจากนี้ การปรับปรุงสิทธิการบินตามที่ คค. เสนอในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้าและการบริการระหว่างทั้งสองประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับสายการบินของทั้งสองประเทศต่อไป