Friday, April 19, 2024
Latest:
News

“ชนะ ภูมี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TMCA) ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน CO2 ให้ได้ตามเป้า “MISSION 2023”

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufacturers Association : TCMA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 ภายใต้ความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนไทยซีเมนต์ ตราลูกโลก จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ นครหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีโรงงานของสมาชิกทั่วประเทศรวม 12 แห่งกระจายอยู่ใน 5 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ลำปาง นครสวรรค์ สระบุรี เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 60 ล้านตัน ปัจจุบัน ชนะ ภูมี ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2565

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยมีภารกิจช่วยเหลือเหล่าสมาชิกอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ภายใต้กรอบของกฎหมายร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชม ประชาสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยได้วางเป้าหมายในการทำงานในปีพ.ศ.2566 ตามเป้า “Mission 2023” เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนซีเมนต์เม็ด ให้ได้ 1,000,000 ตันCO2 หรือเทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122,000,000 ต้น


ย้ำทุกบริษัทที่ผลิตปูนซีเมนต์ จะต้องวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufacturers Association : TCMA) กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 จากความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนไทยซีเมนต์ ตราลูกโลก จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ นครหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทปูนซีเมนต์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีโรงงานของสมาชิกทั่วประเทศรวม 12 แห่งกระจายอยู่ใน 5 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ลำปาง นครสวรรค์ สระบุรี เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 60,000,000 ตัน

การผลิตปูนซีเมนต์ของผู้ประกอบการทุกบริษัท ๆ ต่างทำงานภายใต้ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : มาตรการทดแทนปูนเม็ด” ระหว่าง 19 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามวาระการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ อีกทั้งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นอุตสาหกรรมอันดับ 3 ที่ปล่อยก๊าซเรือนจกกระจกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รองจาก อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเหล็กดังนั้นการประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องตระหนักรับผิดชอบทุกๆมิติรอบๆมากขึ้นด้วย


ชี้อุตฯ ซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG

เนื่องจากพื้นฐานของอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นช่วงสถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาด ช่วงภัยแล้งและช่วงน้ำท่วมสนองนโยบายภาครัฐ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง Environmental, Social, and (Corporate) Governance (ESG) ซึ่งทางสมาคมฯ มีแนวทางดำเนินการควบคู่กันไปกับการทำธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดทำโครงการโรงปูนรักษ์ชุมชน พยายามช่วยเหลือชุมชนที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เข้าไปตั้งโรงงานฐานการผลิตให้เกิดการเกื้อกูลทุก ๆภาคส่วนร่วมกันอย่างยั่งยืน เช่น พัฒนาเหมืองหินปูน “เขาวงโมเดล” และ “แก่งคอยโมเดล” ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้รับความเห็นชอบในร่างแผนผังโครงการจากภาครัฐ เป็นต้นแบบการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อนาคตเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน ส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญต่อการนำทรัพยากรแร่มาใช้อย่างคุ้มค่าตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุด โดยพื้นที่เหมืองที่เหมาะสมอาจพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ หรือจุดเรียนรู้สำหรับชุมชนนั้นๆ ส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินงานตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) ด้วยการทำเหมืองให้ถูกต้องและปลอดภัยตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง นำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน


เปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วม ตลอดกระบวนการเหมืองหินปูน

ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการเหมือง ซึ่งปัจจุบันแนวทางการฟื้นฟูเหมืองได้ปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ตลอดกระบวนการดำเนินงานของเหมือง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ได้จากการฟื้นฟูเหมือง และสอดคล้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ เช่น เหมืองบ้านแม่ทาน จังหวัดลำปาง มีการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ และส่งต่อไปยังบ่อน้ำชุมชนใกล้เคียงให้ได้ใช้ประโยชน์กว่า 250 ครัวเรือน โดยช่วงปี พ.ศ.2564ที่ผ่านมา ได้นำน้ำกว่า 1,300,000 ลูกบาศ์เมตรจากบ่อเหมือง ช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง

นอกจากนี้ในช่วงเกิดน้ำท่วม ทางสมาคมฯได้เปิดเหมืองห้วยแร่ จังหวัดสระบุรี ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงสำหรับกักเก็บน้ำได้ถึง 6,600,000 ลูกบาศก์เมตรช่วยป้องกันน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่โดยรอบๆด้วย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เหมืองของสมาชิกอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ จุดเรียนรู้ และพื้นที่สันทนาการสำหรับชุมชนใช้ประโยชน์ที่ร่วมมือกันในการที่ใช้โมเดลของเหมืองที่ประสบความสำเร็จไปเป็นองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ต่อยอดสร้างประโยชน์ได้ทั้งที่นครสวรรค์ ลพบุรีและนครศรีธรรมราช เป็นต้น


สมาคมฯ หนุนให้สมาชิกใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG

นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้สมาชิกใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ ด้วยการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ตลอดกระบวนการ หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการของเสียอย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำของเสียทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน การทำการเกษตรและการทำไร่อ้อย มากกว่า 1,500,000 ตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing รวมทั้งสนับสนุนภาครัฐในการใช้ประโยชน์จากกระบวนการเผาของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มาดำเนินการจัดการขยะติดเชื้อ COVID-19 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีแนวทางที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในนำเศษคอนกรีตที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและรื้อถอน ไม่ว่าจะเป็นเศษทราย เศษปูนซีเมนต์และอื่นๆมาใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยการดำเนินงานลักษณะนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องตามนโยบาย BCG (Bio Economy – Circular Economy – Green Economy) ของภาครัฐ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง


เผยอุตฯ ปูนซีเมนต์นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น รับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

ชนะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กระทบต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ทำให้ผู้ประกอบการหันมาปรับตัวใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามากขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของโลก และต่อการแข่งขันภายในกันเองของสมาชิกของสมาคมฯ ที่แข่งขันกันค่อนข้างสูง เพราะปัจจุบันตลาดปูนซีเมนต์มีการแข่งขันกันสูง อีกทั้งยังต้องมีการสื่อสารข้อเท็จจริง ในเรื่องที่ถูกต้องกับทางภาครัฐ ภาคประชาชนและกลุ่มลูกค้า

“โชคดีที่ทางสมาคมฯ วางกรอบการทำงานเอาไว้ตรงตามกรอบการทำงานภาครัฐในการทำโครงการขนาดใหญ่ทางด้านคมนาคมต่างๆ ทำให้ภาพรวมการขายปูนซีเมนต์ประมาณ 89% ยังเป็นขายให้กับผู้ประกอบการที่จะนำไปใช้ในโครงการขนาดใหญ่ทั้งงานภาครัฐและภาคเอกชน อีกประมาณ 10% เป็นการใช้ปูนสำเร็จรูปและปูนลูกผสม และ 1% เป็นปูนซีเมนต์พิเศษ และทำการส่งออกเพียง 12% เท่านั้น เพื่อระบายอุปทานส่วนเกินที่เหลือจาก ความต้องการใช้ภายในประเทศ และรักษาระดับการผลิตเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้” ชนะ กล่าว


คาดการณ์ปี’65 อุตฯปูนซีเมนต์เติบโต 2%

ในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ติดลบ 1% จากในปีพ.ศ.2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 มียอดติดลบมากที่สุด ประมาณ 8% เนื่องจากมีการขอความร่วมมือทำงานที่บ้าน (WFH) อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำลังผลิตในประเทศโดยรวม จะมีประมาณ 60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 50-60% เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตเพื่อใช้ให้เพียงพอในประเทศ และทำให้ต้นทุนอยู่ในระดับที่แข่งขันได้

ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ.2565 ธุรกิจอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะเริ่มมีแนวโน้มในทิศทางเป็นบวกขึ้น ซึ่งเติบโตประมาณ 2% โดยครึ่งปีแรกของปี พศ.2565 ไม่มีการเติบโต แต่ยังพอขายสินค้าได้ และยังคงมีปริมาณกำลังซื้อเข้ามาอยู่บ้าง ส่วนครึ่งปีหลังปี พ.ศ.2565 คาดว่าสถานกรณ์ COVID-19 จะเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อปูนซีเมนต์เพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและครัวเรือนจะกลับมาอย่างแน่นอน


ทิศทางการทำงานในปี พ.ศ.2565 และความคาดหวังในการทำแผนดูแล CO2 ของสมาชิกในสมาคมฯ

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีพ.ศ.2565 นั้นทางสมาคมฯยังคงมุ่งเดินหน้าดำเนินการเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิต การทำเหมืองตามแนวทาง Green Mining ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลชุมชนโดยผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคีในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น จากเดิมทางสมาคมตั้งเป้าจะลดผลกระทบ CO2 ให้ได้ 300,000 ตันภายในปีพ.ศ. 2565 แต่ปรากฏว่าสามารถทำได้เร็วกว่าเป้าอย่างมากทำสำเร็จไปเมื่อปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา เทียบได้กับการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดทรัพย์ CO2 ในช่วงกลางวันได้ประมาณ 31,000,000 ล้านต้น พร้อมเร่งผลักดันนำปูนไฮดรอลิกซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ที่ผ่านการคิดค้นวิจัยพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญพื่อช่วยเรื่องโลกร้อนและได้รับ มอก.2594ไปใช้มากขึ้น สำหรับแผนการดำเนินงานของทางสมาคมฯในปีพ.ศ.2565 ภายใต้ “Mission 2023” เป็นการเห็นชอบร่วมกันของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังตามทิศทางของโลก ตั้งเป้าในปีพ.ศ. 2566 ลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนเม็ด ให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122,000,000 ต้น ดังนั้น ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายมีแผนดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้แก่ผู้ใช้งานทุกภาคส่วน หรือบูรณาการความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนากับองค์กรภาคการศึกษา และภาควิชาชีพ เพื่อสร้างความเข้าใจ ความมั่นใจให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่ลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก โดยยังคงคุณภาพงานก่อสร้างเหมือนเดิมทุกภาคส่วนที่มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จะนับได้ว่า เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน