News

วสท.ผนึก วช.จัดเสวนาผลกระทบแผ่นดินไหวขนาด7.7 ต่อกรุงเทพฯ- ปริมณฑล สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด7.7 ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา เขย่าถึงประเทศไทย ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และเป็นเหตุให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้างถล่มลงมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง  คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนาเรื่อง ผลกระทบของแผ่นดินไหว ขนาด 7.7. ต่อกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสนอแนะรวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันภัยพิบัติแผ่นดินไหว พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน

โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายความรู้ ประกอบด้วย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการและผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. และประธานศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, รศ. ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร,  ศ.ดร.วิโรจน์ บุญญภิญโญ ประธานคณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท., ศ.ดร.อมร พิมานมาศ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย, ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท.,  ศ.ดร.อาณัติ เรืองรัศมี คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท., รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. และ ศ.(กิตติคุณ) ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมี ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. เป็นผู้ดำเนินรายการ  ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคาร วสท.

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการและผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. และประธานศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  (วช.)  กล่าวว่า แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวมักเกิดจากแนวเลื่อนที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา เช่น รอยเลื่อนสะกาย ซึ่งมีอัตราการเลื่อนอยู่ที่ประมาณ 20 มิลลิเมตรต่อปี รอยเลื่อนที่มีความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวสูงมักแสดงด้วยสีแดง ซึ่งเป็นแนวที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดจากการไถลตัวตามแนวรอยเลื่อนสะกายที่พาดผ่านจากทางเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ไปจนถึงเมืองเนปิดอว์ และส่งผลมาถึงกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสภาพของดินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นดินอ่อน ทำให้มีการขยายตัวของคลื่นแผ่นดินไหวแม้อัตราการขยายจะน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เรียกว่า “แอ่งดินกรุงเทพ” ซึ่งสามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้มากขึ้น ปรากฏการณ์นี้วัดได้ด้วยดัชนีที่เรียกว่า “เรสพอนส์สเปรกตรัม” ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความแรงที่แผ่นดินไหวส่งผลต่ออาคาร เช่น หากมีค่าประมาณ 1 วินาที จะมีผลกระทบต่ออาคารสูงประมาณ 10 ชั้น และหากเป็น 2 วินาที จะกระทบต่ออาคารประมาณ 20 ชั้น

“พื้นที่เสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ได้แก่ กาญจนบุรี เมียนมา และแนวมุดตัวในทะเลอันดามัน (Alaqan Subduction Zone) ซึ่งอาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ได้ในรอบ 400-500 ปี หรืออาจเร็วกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น อาจไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกในเร็วๆ นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนควรประมาท ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างอาคารในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยควรออกแบบและก่อสร้างอาคารให้แข็งแรง รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดียิ่งขึ้น  สำหรับองค์ความรู้ที่มีในปัจจุบันเกิดจากการศึกษาวิจัยต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี และยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว

รศ. ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีภารกิจในการรับมือแผ่นดินไหว โดย กทม.ได้เปิดระบบ Traffy Fondue เพื่อให้ประชาชนได้ถ่ายภาพรอยร้าวความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในตัวอาคารที่อยู่อาศัย เข้าสู่ระบบตอบ-กลับ เพื่อให้วิศวกรตรวจสอบประเมินภาพถ่ายจากอาคารได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่าที่พักอาศัยอยู่ในความเสียหายที่ไม่รุนแรง ช่วยสามารถลดภาวะตื่นตระหนกของสังคม พร้อมเน้นย้ำสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นภายในองค์กร  อัปเดทรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงาน เพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนแถลงข่าวเป็นระยะๆ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลความจริง และปกปิดข้อมูลข่าวลือ

ในอนาคต การเกิดแผ่นดินไหวยังคงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้ จึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะงานวิจัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการออกแบบอาคารเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบนพื้นที่ กทม.และปริมณฑลให้เหมาะสมต่อไป 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้มีลักษณะ “สไลด์ในแนวข้าง” ซึ่งแตกต่างจากรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดสึนามิ โดยรอยร้าวที่เกิดขึ้นในอาคารส่วนใหญ่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จัดอยู่ในระดับ 2 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการนำบัตรประชาชนสอดเข้าไป หากรอยร้าวมีขนาดใหญ่จะสามารถสอดเข้าไปได้ง่าย อย่างไรก็ตาม รอยร้าวที่พบในเหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 2 ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักของอาคาร

กรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มลงมา แต่ละมุมของการพังทลายมีลักษณะแตกต่างกัน หากมองจากด้านหน้าจะเห็นว่าเกิดจากเสาหัก แต่ถ้ามองจากด้านหลังจะพบว่าปล่องลิฟต์ (Core wall ) มีการยุบตัวลงมาก่อน ซึ่งถือเป็นปริศนาที่สำคัญที่สุด เพราะตามหลักวิศวกรรม ปล่องลิฟต์ไม่ควรพังลงมาได้ง่ายๆ การพังของอาคารในลักษณะนี้ต้องมีตัวกระตุ้น หรือที่เรียกว่า “Zero Event” ซึ่งนำไปสู่การพังทลายแบบ “Pancake Collapse” คล้ายกับเหตุการณ์ถล่มของอาคาร Royal Plaza ในอดีต

สำหรับการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่าอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อาคารพังทลาย เช่น เสาชะลูดชั้นล่างหักบริเวณกลางเสา, เสาชะลูดชั้นบนหัก, รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง หรืออาจเกิดจากความเสียหายที่ปล่องลิฟต์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้าน การสั่นพ้อง (Resonance) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถคำนวณได้ (Predictable) โดยนักวิศวกรรมโครงสร้าง

ศ.ดร.อมร กล่าวว่าอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดคือ คุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้นและวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งสามารถทดสอบคุณภาพได้ หากโครงสร้างยังคงใช้เหล็กที่มีคุณภาพดี อาคารจะยังคงมีความแข็งแรง แต่หากอยู่ในระดับ 4-5 ถือว่าเป็นอันตราย และมีโอกาสที่จะเกิดการพังทลาย อย่างไรก็ตาม อาคารที่ได้รับความเสียหายสามารถซ่อมแซมได้โดยการเสริมเหล็กแกน, เหล็กปลอก และใช้ปูนหุ้มเสริมอีกชั้น หากดำเนินการอย่างถูกต้อง อันตรายจะลดลงเหลือไม่ถึง 10% อย่างไรก็ตาม ปล่องลิฟต์แม้จะเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดของอาคาร แต่ก็อาจกลายเป็นจุดที่อันตรายที่สุดหากเกิดความเสียหายขึ้น

ศ.ดร.วิโรจน์ บุญญภิญโญ ประธานคณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. กล่าวว่า สมรรถนะอาคารสูงเพื่อต้านทานแผ่นดินไหวและแรงลมในประเทศไทยเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ความเร็วลมที่ออกแบบ 142 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยังถือว่ามีความปลอดภัย ขณะที่สมรรถนะของอาคารสูงเพื่อต้านทานแผ่นดินไหวสำหรับโครงสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐาน หากเกิดปะทะแรงลม ก็อาจจะนำไปสู่ความเสียหายได้ ดังนั้นการก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน มีการควบคุมงานที่ดี ทำให้อาคารนั้นมีความแข็งแรงและมั่นคง อย่างไรก็ตาม สมรรถนะของอาคารสูง ภายใต้แผ่นดินไหวระยะไกลขนาด 7.7 ในครั้งนี้ส่วนใหญ่โครงสร้างหลักไม่ได้รับความเสียหาย แต่ก็ควรมีการตรวจสอบและประเมินสมรรถนะของอาคารสูง การก่อสร้างที่ใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน และการควบคุมงานที่ดี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อทุกฝ่าย 

ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่ออาคารโดยตรง โดยเฉพาะอาคารของโรงพยาบาล ที่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สร้างความลำบากเป็นอย่างมาก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาโดยการติดตั้งระบบ Structural Health Monitoring (SHM) System จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความวิตกกังวลกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต  โดย (SHM) System สามารถตรวจวัดระดับการสั่นสะเทือนที่มาจากภัยพิบัติธรรมชาติ อาทิ ลมแรง และแผ่นดินไหว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการสั่นสะเทือนได้แบบ Real-Time   ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีราคาสูง และต้องอาศัยการบำรุงรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ

ปัจจุบันมีการวิจัยประยุกต์และติดตั้งใช้งานแล้วที่อาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และอาคารในโรงพยาบาลหลายๆแห่งในภาคเหนือ เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว  เครื่อง SHM System จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปแจ้งเตือนไปยังวิศวกรโยธาของอาคาร เพื่อคำนวณและประเมินค่าความเสียหายจุดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ  อย่างไรก็ดีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการติดตั้งใช้ในพื้นที่ กทม. เนื่องจากมีอาคารโรงพยาบาลสูงอยู่หลายแห่ง ซึ่งจะช่วยลดความกังวลจากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ศ.ดร.อาณัติ เรืองรัศมี คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. กล่าวว่า  ในช่วงที่ผ่านมา วสท.ได้ลงพื้นที่สำรวจอาคารสูงประมาณ 10 แห่ง โดยตรวจสอบทั้งในส่วนของผนังอิฐก่อและองค์อาคารหลัก เช่น คาน เสา และรอยต่อระหว่างโครงสร้าง พบว่าผนังอิฐก่อได้รับความเสียหายหลายระดับ ส่วนใหญ่เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ ลึกตลอดความหนาของผนัง ซึ่งสามารถซ่อมแซมได้โดยการตัดส่วนที่เสียหายออก ใส่เหล็กเดือย และก่อผนังใหม่ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่มีระบบท่อหรือสายไฟพาดผ่าน การทุบผนังอาจทำได้ยาก จึงใช้วิธี “เข้าเฝือก” โครงสร้าง โดยเสริมเหล็กตั้งฉากกับผนัง หรือที่เรียกว่า Ferrocement เช่น ตะแกรงเหล็กฉีก แล้วฉาบด้วยมอร์ต้า เพื่อให้ผนังสามารถรับแรงในแนวหน้าตรงได้โดยไม่ล้ม

“การซ่อมไม่ควรใช้ผนังเต็มแผ่น เพราะจะทำให้เกิดรอยร้าวมากขึ้น และแรงจากแผ่นดินไหวจะถูกส่งไปยังเสาและคานมากขึ้น การเสริมเฉพาะผนังจึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเสริมคานและเสาด้วยเพื่อให้ระบบโครงสร้างทำงานร่วมกันได้อย่างมั่นคง ส่วนรอยร้าวที่ทะลุผ่านทั้งผนัง ก็สามารถซ่อมโดยการเย็บเฝือกเสริมความแข็งแรงแล้วฉาบปิดได้” ศ.ดร.อาณัติ กล่าว

ในกรณีของผนังอาคาร ยังต้องคำนึงถึงความทนไฟด้วย สำหรับรอยร้าวทั่วไป อาจซ่อมเบื้องต้นด้วยการทาสีเคลือบผิว ขณะที่ปัญหาจากแรงสั่นสะเทือนของน้ำในแท็งค์ ซึ่งมักอยู่กลางอาคารและสร้างแรงดันจากแรงกระเพื่อมของน้ำ ก็พบว่าทำให้เกิดรอยร้าวในบริเวณพื้น โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหล็กเสริม การซ่อมแซมในจุดนี้ต้องกันน้ำไม่ให้ซึมถึงเหล็กเสริม และแก้ไขสนิมก่อน จากนั้นจึงปิดรอยร้าวและเสริมกำลังในแนวที่รับแรงให้น้อยที่สุด พร้อมเสริมด้านหลังและฉีดน้ำยาอีพ็อกซี่เข้าไปในรอยร้าว

สำหรับเสาที่เสียหาย อาจเกิดจากสภาพเดิมที่เริ่มเสื่อม หรือจากการกระเทาะของคอนกรีต วิธีการซ่อมจะเน้นที่การแก้สนิมเหล็กเสริม ปิดรอยร้าว และเสริมกำลังให้สามารถรับแรงเฉือนและแรงดัดได้ดีขึ้น ด้วยการโอบรัดคอนกรีตหรือใช้เทคนิคเสริมอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. กล่าวว่า แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ แม้ว่าจังหวัดกาญจนบุรีจะอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่ากรุงเทพฯ แต่ประชาชนในกรุงเทพฯ กลับรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่าและนานกว่า โดยสาเหตุหลักมาจากลักษณะทางธรณีวิทยาของกรุงเทพฯ ที่เป็นแอ่งดินอ่อน ซึ่งมีคุณสมบัติในการขยายและเพิ่มระยะเวลาของแรงสั่นสะเทือน ทำให้อาคารสูงในกรุงเทพฯ สั่นได้นานและแรงขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณกรมโยธาธิการ พระราม6 และพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี พบว่ามีแรงสั่นสะเทือนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.02G

ข้อมูลจากสเปรกโตรแกรมแสดงให้เห็นว่าคลื่นแผ่นดินไหวมีพลังงานสูงในช่วงเวลาการสั่นตั้งแต่ 1 ถึง 10 วินาที ซึ่งตรงกับช่วงที่อาคารสูงมีการตอบสนอง ทำให้รับแรงสะเทือนได้มากกว่าโครงสร้างเตี้ย นอกจากนี้ หากพิจารณาคลื่นแผ่นดินไหวประเภท ‘บอดี้เวฟ’ จะใช้เวลาประมาณ 2 นาทีในการเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และแม้ความเร่งสูงสุดของคลื่นประเภทนี้อาจไม่สูงนัก แต่ค่าความรู้สึกของประชาชนหรือ MMI (Modified Mercalli Intensity) อยู่ที่ระดับ 5 โดยเฉพาะใจกลางกรุงเทพฯ ที่รับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้นานถึง 4-5 นาที ขณะที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์รับรู้ได้นานประมาณ 1-3 วินาที

นอกจากนี้ ทิศทางของแรงสั่นสะเทือนในแนวเหนือ-ใต้ค่อนข้างแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีดินอ่อนลึก เช่น ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งความลึกของดินมีผลต่อการขยายตัวของแผ่นดินไหว ทั้งนี้ ค่าความถี่ของคลื่นแผ่นดินไหวในเหตุการณ์นี้ต่ำกว่าค่าที่ใช้ในการออกแบบอาคารทั่วไป แสดงให้เห็นว่าแม้เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก แต่ก็มีความเป็นไปได้และควรเตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้า

ศ.(เกียรติคุณ) ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอ้างอิงจากหนังสือ “เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว” ซึ่งมีนัยสำคัญ ว่า “ความเสียหายถึงขั้นทำให้อาคารพังถล่มที่เชียงรายจากแผ่นดินไหวแม่ลาว ขนาด 6.1 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ทำให้เราละเลยไม่เตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวได้อีกแล้ว”  จากบทความในหนังสือที่กล่าวถึง มาตรฐานการก่อสร้าง สะท้อนมาถึงปัจจุบันได้ว่า บทเรียนจากกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่พังถล่ม ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว 2568 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานในการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันภัยพิบัติ แม้ในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการถล่มได้ แต่ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ ไปจนถึงการควบคุมงาน เบื้องต้นจากการตรวจสอบอาคารบางแห่งพบว่า คอนกรีตมีสภาพไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในบริเวณกำแพงลิฟต์ของอาคารบางหลังที่กระเบื้องหลุดจนเห็นคอนกรีตที่เสื่อมสภาพ เป็นลักษณะคล้าย ‘ระเบิดเวลา’ ที่สะท้อนถึงคุณภาพของการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตที่สำคัญว่า อาคารที่ถล่มไม่ได้ทิ้งซากของโครงสร้างหลักไว้เลย ทั้งที่ตามปกติในกรณีเกิดแผ่นดินไหวหรืออาคารถล่ม มักจะพบซากของโครงสร้างแข็งแรง เช่น ผนังกล่องลิฟต์ กล่องบันได กล่องเซอร์วิส หรือผนังคอนกรีตที่เป็นจุดรับแรงหลักของอาคาร แต่ในกรณีนี้กลับไม่พบสิ่งเหล่านี้เลย ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ และเป็นจุดสำคัญที่ต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อสาเหตุที่แท้จริงต่อไป