Saturday, May 24, 2025
Latest:
News

สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ชี้ตึกสตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว สะท้อนจุดอ่อนระบบวิศวกรรมไทย เสนอเร่งปฏิรูปกฎหมาย 6 ฉบับ ยกระดับความปลอดภัยโครงสร้าง

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีศูนย์กลางอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนจนเกิดผลกระทบมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ทำให้มีการขยายแรงสั่นไหวรุนแรงยิ่งขึ้น หนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจต่อสังคมไทย คือ การพังถล่มของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียแล้ว ยังทำให้เกิดข้อกังขาต่อมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารภาครัฐ และระบบการกำกับดูแลของวิชาชีพวิศวกรรมในประเทศไทย

เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนและวิพากษ์ถึงโครงสร้างกฎหมายและมาตรฐานวิศวกรรมที่ใช้ในปัจจุบัน โดย .ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมลักษณะนี้ซ้ำอีกในอนาคต โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับอย่างครอบคลุม ทั้งในด้านการออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง มาตรฐานวัสดุ และกระบวนการตรวจสอบอาคารในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง

.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากรอยเลื่อนสกาย (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่พาดผ่านประเทศเมียนมา โดยแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่เมืองมัณฑะเลย์ และเป็นรอยเลื่อนเดียวกับที่เคยทำให้เกิดสึนามิในปี 2547 รอยเลื่อนดังกล่าวยังพาดผ่านเมืองสำคัญในเมียนมา เช่น เมืองพะโคและย่างกุ้ง โดยมุดตัวลงสู่แนวแผ่นเปลือกโลกที่เกาะสุมาตรา นับเป็นรอยเลื่อนที่ทรงพลังที่สุดในโลกหนึ่ง และเคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วเมื่อ 166 ปีก่อน ที่เมืองอมรปุระ

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวังอีกหลายแห่ง เช่น รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแขนงของรอยเลื่อนสกาย และอาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ถึงระดับ 7.5 แมกนิจูด เนื่องจากกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 14,000 ตารางกิโลเมตรใน 14 จังหวัด ซึ่งแม้จะอุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก แต่ก็เป็นตัวเร่งให้แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวถูกขยายและสะสมในพื้นที่ ทำให้กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่ออาคารสูงคล้ายกับกรณีของเม็กซิโกซิตี้ ที่ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนเช่นกัน จึงจำเป็นต้องออกแบบอาคารให้รองรับแรงแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.ดร.อมร กล่าวอีกว่า กรณีการถล่มของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ตึก สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชน เนื่องจากปล่องลิฟต์ซึ่งควรเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุด กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลาย โดยพบว่าการพังเริ่มจากชั้น 3-4 ทำให้เกิดคำถามต่อการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง และคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต เหล็กเส้น และอุปกรณ์ต่อเหล็กว่าได้มาตรฐานวิศวกรรมหรือไม่ รวมถึงต้องพิจารณาว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง และให้เวลาตรวจสอบภายใน 90 วัน

อีกประเด็นที่อยู่ระหว่างการถกเถียงคือ การที่ผนังปล่องลิฟต์ไม่ได้อยู่กลางอาคาร แม้มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว มยผ.1302 ไม่ได้กำหนดว่าปล่องลิฟต์ต้องอยู่กึ่งกลางอาคาร แต่ก็ต้องออกแบบโดยคำนึงถึงความไม่สมมาตรเชิงโครงสร้างอย่างละเอียด หากการออกแบบถูกต้องตามหลักการก็สามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้โดยไม่พังทลาย ทั้งนี้ต้องรอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการพิสูจน์ด้วยแบบจำลองทางโครงสร้างที่แม่นยำต่อไป

ขณะที่ความสำคัญของนิติวิศวกรรมศาสตร์ (Forensic Engineering) ในการตรวจสอบหาสาเหตุของการถล่ม ต้องมีการเก็บตัวอย่างวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีตและเหล็กเส้นอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะจุดอ่อนของโครงสร้าง เช่น รอยต่อระหว่างการเทคอนกรีตแต่ละชั้น หรือ Cold Joint ซึ่งหากมองข้ามจะทำให้ผลสรุปขาดความน่าเชื่อถือ โดยควรมีการเปิดเผยผลการทดสอบวัสดุให้ประชาชนทราบโดยเร็ว

“อยากเรียกร้องให้สภาวิศวกรดำเนินการอย่างจริงจังกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องรอการร้องเรียนจากภายนอก เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็นวิศวกร ใช้วิศวกรต่างชาติ และมีวิศวกรสูงวัยถึง 85 ปีที่ยังรับรองแบบก่อสร้างอยู่ จึงเสนอให้สภาวิศวกรเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนในวิชาชีพวิศวกรรมไทย” .ดร.อมร กล่าว

ทั้งนี้ มีกฎหมายหลายฉบับที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันเหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหวเช่นนี้ในอนาคต ดังนี้

  1. พระราชบัญญัติวิศวกร กำหนดสมรรถนะของวิศวกรในการออกแบบอาคารสูงหรือใหญ่พิเศษภายใต้แรงแผ่นดินไหว เพิ่มโทษการปลอมแปลงใบอนุญาต เพิ่มอำนาจระงับใช้ใบอนุญาตชั่วคราว
  2. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารราชการต้องขออนุญาตเช่นเดียวกับอาคารเอกชน กำหนดให้มีการตรวจสอบการออกแบบอิสระ (Blind Independent Check) มีกฎหมายประเมินและเสริมกำลังอาคารเสี่ยงตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล อาคารสูง
  3. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่ม มอก.บังคับ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น คอนกรีตผสมเสร็จ และอุปกรณ์ต่อเหล็กทางกล
  4. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์พังถล่มของอาคาร
  5. พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กำหนดขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างช่วง และหลักเกณฑ์การจ้างช่วง เพิ่มความโปร่งใสในขั้นตอนการก่อสร้าง เช่น การแก้ไขแบบ การทดสอบวัสดุ ต้องอัปโหลดขึ้นระบบให้ตรวจสอบได้
  6. พระราชบัญญัติการผังเมือง เพิ่มผังสีความเสี่ยงแผ่นดินไหว โดยอาศัยหลักการ Microzonation

“ขณะนี้ได้มีการลิสต์กฎหมายทั้ง 6 ฉบับ พร้อมประเด็นที่ควรแก้ไขไว้เบื้องต้นแล้ว ซึ่งสามารถจำแนกได้ว่าแต่ละประเด็นใดเป็นเรื่องหลักหรือรอง และสิ่งใดสามารถทำได้ทันที เช่น การเพิ่มระบบรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง หากการปรับปรุงกฎหมายทั้ง 6 ฉบับยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ อาจต้องพิจารณากฎหมายเพิ่มเติมหรือออกกฎหมายใหม่โดยเฉพาะ หากสามารถดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้ได้ครบถ้วน จะช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านโครงสร้างของประเทศไทย และลดความสูญเสียจากภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ” .ดร.อมร กล่าวทิ้งท้าย