BIM

คุณทรงพล ยมนาค “เราใช้ BIM เป็นเครื่องมือในการทำงาน ไม่ใช่ทำงานของเราให้เป็น BIM ”

หลังจากที่คณะกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สมัยปีพ.ศ.2560 -2562 ซึ่งมี ดร.ธเนศ วีระศิริ เป็นนายกวสท. ได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ BIM LAB by EIT หรือศูนย์อบรมการทำงานด้วยแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (BIM)  ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ (วสท.)  เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วิชาการและผู้เชี่ยวชาญระบบ BIM   เครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมระบบ BIM จากหลากหลายค่ายโปรแกรม เพื่อใช้เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ระบบ BIM และการอบรมทางวิศวกรรมรวมถึงงานด้านอื่นๆที่ต้องมีการลงมือปฏิบัติการร่วมกันหลายฝ่าย  การฝึกใช้งานโปรแกรม Virtual / Digital Design and Construction และอื่นๆ  เพื่อลดความยุ่งยากในการที่ผู้เรียนต้องนำคอมพิวเตอร์มาเรียน รวมถึงต้องจัดหาโปรแกรมที่ใช้เรียน ทำให้เกิดความยุ่งยากในการเรียนจนกลายเป็นข้อจำกัดการพัฒนาตนเองของวิศวกร และสถาปนิกในการที่จะเรียนรู้โปรแกรมที่ใช้ในการออกแบบและก่อสร้าง ในกรณีที่ยังไม่มีความพร้อมจัดหาอุปกรณ์และโปรแกรม

BIM LAB by EIT

ในเดือนตุลาคม 2563 ศูนย์ BIM LAB by EIT แล้วเสร็จ โดยตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ของอาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ถนนรามคำแหง 24  ภายในศูนย์ฯ มีความก้าวหน้าทันสมัย สามารถรองรับการเรียนจำนวน 50 ที่นั่ง ปัจจุบันมีระบบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเรื่องระบบ BIM จากหลากหลายค่ายลงไว้จำนวน 30 เครื่อง และความพร้อมในทุกด้าน ครบครันการใช้โปรแกรมด้านออกแบบก่อสร้างด้วยความร่วมมืออย่างดีจากบริษัทฯ ผู้จำหน่ายโปรแกรมซอฟท์แวร์หลายค่ายที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับวสท. ในการสนับสนุนโปรแกรมระบบ BIM และคอร์สโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มี Certificated Training License เฉพาะทางในการเรียนการสอนและฝึกอบรม จนถึงปัจจุบันมีบริษัทฯ อีกหลายค่ายซอฟท์แวร์ในเมืองไทยและในต่างประเทศที่สนใจจะนำโปรแกรมทางวิศวกรรมศาสตร์และอื่นๆ มาลงไว้

BIM LAB by EIT

สำหรับหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี BIM ภายในศูนย์ BIM LAB by EIT คือ คุณทรงพล ยมนาค รองประธานมาตรฐาน BIM ฉบับสภาวิชาชีพ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และผู้ทรงคุณวุฒิ สภาสถาปนิก ซึ่งเป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่มีความรู้และเข้าใจในเรื่อง BIM เป็นอย่างดี


2-3 ปีที่ผ่านมาไทยเริ่มสนใจเทคโนโลยี BIM แถมรัฐไม่สนับสนุน – โอกาสในวิชาชีพน้อยลง

ทรงพล ยมนาค

คุณทรงพล ยมนาค กล่าวว่า ประเทศชั้นนำได้พัฒนาเทคโนโลยีการทำงานด้วยแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling : BIM) มาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 2520 ต่อมาความรู้ด้านนี้ขยายไปทั้งเอเชียในทุกประเทศ สำหรับประเทศไทยเพิ่งตื่นตัวในช่วง 3-4 ปีนี้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาเทคโนโลยี BIM กันหมดแล้ว แต่ในปัจจุบัน องค์กรวิชาชีพ และภาครัฐของไทยยังไม่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยี BIM มากนักทำให้ไม่สามารถผลักดันวิชาชีพให้ก้าวไปสู่อนาคตได้

หากเรานำเอา Designer จากต่างประเทศมาทำงานออกแบบ เราจะทำงานร่วมกับเขาได้ยากเพราะเราไม่รู้จักเทคโนโลยีนี้ ทำให้โอกาสในการร่วมงานกับเขาน้อยลง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพในไทยไม่มีความรู้ทางด้านนี้ ก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศเรามาทำ คนพวกนั้นจะใช้ประโยชน์ของวิชาชีพนี้ของคนไทยไปทั้งหมดแล้วเราจะเหลืออะไร จะเห็นได้ว่าโครงการขนาดใหญ่ด้านเอกชนส่วนใหญ่ใช้ผู้ออกแบบจากต่างประเทศ ทางด้านรัฐ โครงการสาธารณูปโภคก็จะมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานด้วย บางงานใช้ผู้ร่วมงานเป็นเครือข่ายในต่างประเทศ เราอาจจะเป็นแค่ 1 ใน 10 ที่เข้าไปทำงานร่วมกับเขา

“ถ้าไม่มีโอกาสเข้าไปทำงาน เราจะเหลืออะไร เหลือแต่งานเก็บกวาดเช็ดถูไม่ใช่คนเจ้าของร้านที่ดูแลจัดการร้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลถ้าวิชาชีพเรา ไม่สามารถพัฒนาเรื่องพวกนี้ได้ โอกาสก็จะน้อยลง ในแง่ของการเจริญเติบโตของธุรกิจก็จะไม่มีรายรับ เพราะเราไปจ่ายข้างนอกทั้งหมดเลย เราก็ไม่ได้อะไร เราได้แต่เศษๆเงินหมุนในวงจรเศรษฐกิจของเรา โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ชัดเจนอยู่แล้วถ้าเราไม่ปรับตัว สามารถจะทำงานตรงนี้ได้ก็แคบลง หลังจาก COVID-19 บริษัทชั้นนำที่มีเครือข่ายทั้งหมดก็จะมีโอกาสมาก เขาหิ้วกระเป๋าทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาจ่ายค่าจ้าง Transfer จ้างไปแต่ละจุด เขาจ้างคนอื่นที่ไม่เสียภาษีให้ประเทศไทย แต่คนไทยเสียภาษี แล้วจ้างคนไทยทำไมเพราะต้องเสียภาษี จ่ายตรงที่เมืองนอกก็จบ ดังนั้นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจไม่ได้หมุนเวียนภายในประเทศ ก็จะหลุดไปข้างนอกหมด”


เผย BIM ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐ

เมื่อประเทศไทยมาทำเรื่อง BIM ในขณะที่ทั่วโลกพัฒนามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะยุโรปเหนือที่เริ่มต้นพัฒนาอย่างแพร่หลายมา ในแต่ละภูมิภาคแต่ละประเทศต่างมีวัฒนธรรมของตนเอง และสร้างรูปแบบของตนเอง ประเทศใดนำไปใช้ก็ต้องยึดมาตรฐานตามนั้น เพราะฉะนั้นคนไปเรียนต่างประเทศกลับมาบอกเล่มนี้ต้องใช้ บ้านเราหยิบเล่มนี้มาใช้ และให้ใช้ตามนั้น สิ่งที่เกิดตามมา คือ 1. ใช้ไม่ได้ 2. ไม่ตรงกับวิถีของเรา 3. เข้าใจไม่ตรงแล้วเอามาใช้ แทนที่วิชาชีพของเราจะพัฒนากลับดิ่งลง เพราะความเข้าใจของแต่ละคนก็แตกแยกกัน พอมาทำมาหากินก็ขัดแย้งกัน ก็มาตกหนักกับระดับล่างที่เป็นผู้ผลิต Production ที่ต้องทำตามความต้องการที่อยากได้คนละแบบ เมื่อเป็นอย่างนั้น การแข่งขันในตลาดมีตั้งแต่ราคา 5 บาทไปจนถึง 100 บาท หรือมากกว่า 100 บาท

BIM Committees

“ถ้าเราไม่มีเกณฑ์ของหน่วยงานที่เป็นองค์กรวิชาชีพมาแนะนำว่าสิ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร คนอื่นเขาไม่อยากทำเพราะไม่ได้ผลประโยชน์ที่ตอบกลับมาเป็นเงิน หน่วยงานวิชาชีพอย่างสภาสถาปนิก สภาวิศวกร และวสท . จึงต้องเป็นหน่วยงานที่ผลักดันตรงนี้ อีกส่วนหนึ่งเราไม่สามารถไปบอกภาครัฐ ได้ว่าประเทศไทยต้องมี BIM นะ เพราะรัฐเองก็ยังไม่รู้จักว่าเป็นอย่างไรจะโทษเขาไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐ”


ไทยจะต้องมี Roadmap ด้าน BIM ถึงจะยกระดับทักษะบุคลากรด้านวิชาชีพให้แข่งขันได้

คุณทรงพล ได้ตั้งคำถามว่า ขณะนี้ไทยมีกระทรวงคมนาคม อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ซึ่งแต่ละกระทรวงจะแยกการทำงานออกจากกัน ทุกหน่วยงานต่างมีหน่วยงานออกแบบก่อสร้างของตัวเอง อำนาจอยู่ที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่จะกำหนดนโยบายออกมา แต่ภาครัฐยังไม่มีหน่วยงานกลางที่ดูแลระบบออกแบบก่อสร้างของประเทศ ถ้าจะให้ประเทศไทยพัฒนาเรื่อง BIM ก็ต้องให้แต่ละกระทรวงรู้จักและทำความเข้าใจเรื่อง BIM แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎระเบียบและวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละหน่วยงานไม่เหมือนกัน ไม่สามารถกำหนดให้มีมาตรฐานกลางในการทำงาน

“ถ้าผู้รับเหมาจะไปประมูลของหน่วยงานแห่งที่หนึ่ง ก็ต้องทำตามรูปแบบของหน่วยงานแห่งหนึ่ง จะไปประมูล หน่วยงานแห่งที่สอง ก็ต้องทำตามหน่วยงานแห่งที่สอง ถ้าจะเอา BIM ไปใส่กระทรวง หนึ่ง ,สอง ,สาม,สี่,ห้า เท่ากับคุณต้องมี BIM หลายรูปแบบในไทย ถามว่าใครจะเป็นคนกำกับได้ว่าทิศทางจะเป็นยังไง อันนี้คือประเด็นใหญ่ว่า ถ้าวิชาชีพจะพัฒนาไปถึงตรงนั้นได้ จะต้องมีทิศทางที่ชัดเจน จะยกระดับความสามารถของบุคลากรวิชาชีพให้สู้กับเขาได้ จะต้องมีนโยบาย Roadmap ของประเทศ เราคนเดียวทำเองไม่ได้”


สมอ.เตรียมใช้ BIM Standard ของ ISO 19650 ในไทย ขณะที่ BIM เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการวิชาชีพ

แม้ว่าประเทศไทยจะมีหน่วยงาน ทำหน้าที่วางมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศอย่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า BIM คืออะไร? แล้วเราจะใช้ BIM ตามมาตรฐานนี้อย่างไร? และสมอ.ได้วางกรอบเพื่อใช้งานตามมาตรฐานอย่างไร? ล่าสุดได้ทราบว่า สมอ.ใช้ BIM Standard ของ ISO 19650 ให้เป็น BIM Standard ที่จะใช้ในประเทศไทย และคิดว่าจะประกาศใช้ในอนาคตนี้ มาตรฐาน ISO 19650 เป็นมาตรฐานการบริหารจัดการข้อมูลของทรัพย์สินที่เกี่ยวพันกับ BIM ซึ่งเป็นมาตรฐานของยุโรป ที่มีรากฐานและวัฒนธรรมที่วางกันมายาวนานและผ่านการทดสอบมาแล้ว ขณะที่บ้านเราดั้งเดิมก็ใช้มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) เข้ามาด้วย เท่ากับว่าไทยต้องเจอ 2 มาตรฐานในเวลาเดียวกัน แล้วจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากข้อตกลงไม่เหมือนกัน ต่างกันคิดในบริบทของประเทศเขา

“คำถามคือ ท่านเข้าใจดีไหมว่า BIM เป็นอย่างไร? ถ้าด้านการผลิตของบ้านเรา ในภูมิภาคนี้ ISO เป็นมาตรฐานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ก็มีมาตรฐานกระบวนการทำงาน มาตรฐานสินค้า ขณะที่ BIM น่าจะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการ ซึ่งจะมาสร้างกรอบการทำงานของบ้านเราที่เกี่ยวกับวิชาชีพ เราทำแบบเมืองนอกได้ไหม? อันนี้เป็นคำถาม ผมยังไม่ทราบคำตอบ และเมื่อใดจะทำ และทำอย่างไร? ผมยังไม่เห็นคำอธิบายนี้อย่างชัดเจน และจะทำอย่างไรเมื่อ ISO เป็นมาตรฐาน BIM ที่ใช้ในประเทศไทยแล้ว”


US – อังกฤษต่างวางมาตรฐานจากประสบการณ์ แล้วไทยจะยึดมาตรฐาน BIM แบบใด

การกำเนิดมาตรฐานของแต่ละประเทศ สร้างมาจากการใช้งานของเขาเอง อย่างสหรัฐอเมริกา นำมาจากภาครัฐ นาซ่าหรือหน่วยงานทหาร หรือองค์กรของรัฐที่ควบคุมดูแลมากำหนด ฉะนั้นเขาก็ทำตามระบบเขา ขณะที่ของเราทำแบบเขาก็ไม่ได้ ส่วนอังกฤษ ประเทศในยุโรปก็ทำตามประสบการณ์แบบเขามา เพราะมีประสบการณ์ทางด้านนี้มายาวนาน เขาต้องการมุ่งให้ Construction เป็นดิจิทัล และเขาค้นพบสิ่งที่ต้องการจริง ๆ แล้วมาใส่ในมาตรฐานของเขา แล้วไทยจะยึดแบบไหน?

“ตัวเราเอง มีตัวตนอย่างไร? วันหนึ่งแต่งชุดอเมริกัน อีกวัน แต่ชุดอังกฤษ อีกวันก็นุ่งโสร่งหรือผ้าขาวม้า อันนี้ต้องการอธิบายถึงภาพที่ตัวตนเราเป็นยังไรกับการผลักดันสมาคมวิชาชีพให้เรียกว่าขึ้นมาช่วยคนในวิชาชีพพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใช้ BIM เป็น ผมบอกว่าก็ซื้อโปรแกรมมา ฉะนั้นผมต้องเป็น BIM แล้วเป็นแค่ไหนล่ะ ก็เป็นแล้วทำมาสอง ปี จะเริ่มตำแหน่งสูงขึ้นแล้วเอาอะไรชี้วัดล่ะ สิ่งนี้ต้องทำต่อไป คุณจะทำอย่างไรให้บุคลากรที่อยู่ในไทย พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น แล้วไปเทียบชั้นกับสากลได้”

BIM ISO 19650

วสท.วางมาตรฐาน BIM ให้องค์กรเลือกใช้ตามสมัครใจ เน้นสอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละหน่วยงาน

คุณทรงพล กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพอย่างสภาวิศวกรกับสภาสถาปนิก และวสท.ได้ทำงานร่วมกันทางด้านนี้ โดยจัดให้มีคณะกรรมการ มีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน โดยเน้นกระบวนการทำงานและวางหลักมาตรฐาน เนื่องจากวสท. เป็นหน่วยงานที่จัดมาตรฐานด้านวิชาชีพอยู่แล้ว

“ทำไมเราต้องเน้นทำมาตรฐาน เราค้นพบว่ามาตรฐานของ BIM มีมากมายหลักร้อยมาตรฐาน แต่ละประเทศทำคนละแบบ พอมาถึงเมืองไทย ต้องอ้างมาตรฐาน A B C D เอามาใช้เราไม่มีอธิปไตยของการทำมาหากินของวิชาชีพเลยหรือ วันนี้เราต้องไปพึ่ง A B C D และที่พึ่งใช้ได้มั้ย เรามีหลักคิดมั้ยว่ารูปแบบวัฒนธรรมให้สอดคล้องกัน ให้เป็น Construction Civilization ของการทำงาน (ขอใช้คำของพี่สุชิน สุขพันธ์) ต่างประเทศก็คิดว่าประเทศเขาได้มาตรฐาน คุณได้มาตรฐานหรือเปล่า เราก็ทำงานกับเขาไม่ได้ เราก็ต้องไปสอบให้ได้มาตรฐาน เราก็ต้องไปพึ่งเขา แล้วเราปรับใช้กับเขาได้มั้ย ต้องไป Certify กับเขา และตรงกับของเราหรือเปล่า”

ทั้งนี้ วสท.ได้จัดทำมาตรฐาน BIM เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปีพ.ศ.2563 ได้ออกหนังสือมาตรฐานการใช้แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling :BIM) ตามแนวทางสภาวิชาชีพ เล่มที่ 1 และในปลายปีพ.ศ.2564 นี้ จะออกหนังสือมาตรฐาน BIM ซึ่งมีเนื้อหาต่อเนื่องจาก เล่มแรก ในงานสัปดาห์วิศวกรรมแห่งชาติ 2564 หลักการของวสท. ออกมาตรฐานมา หน่วยงานใดเลือกนำไปใช้ได้ตามแนวสมัครใจ ไม่มีภาคบังคับ แต่ถ้าออกเป็นกฎหมายจะให้คุณและมีโทษ มาตรฐานวสท.มีจำนวน 100 เล่ม หากใช้ไม่ดีก็จะมีการปรับแก้ ทั้งนี้มาตรฐานมีหลายระดับ อย่างมาตรฐาน ISO ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสูง จะต้องมีการ Qualify ว่าจะสอบผ่านอย่างไรบ้าง

“มาตรฐาน BIM ของบ้านเราก็มีจากหลายแหล่งใครจะใช้ก็ไปซื้อหรือดาวน์โหลดฟรีเป็นทางเลือกแต่เราต้องสร้างความเข้าใจกับคนใช้ ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างและมี Apply เข้ากับองค์กรคุณได้ ตัวนี้ไม่ได้ขีดเส้นตาย พอไปใช้ในองค์กร ก็จะมีวัฒนธรรมองค์กรของตนเองว่า Apply ตรงนี้ได้อย่างไร และอัพเดทกับมาตรฐานหลักอย่างไร อย่างนี้มากกว่า แต่ถ้าเอามาตรฐานสากลมาตัวหนึ่งบอกต้องใช้อย่างนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นความยากลำบากเพราะองค์กรขนาดเล็กมีไม่ครบ คุณต้องทำ Paper ไม่ไหวมีคนสามคน แต่ถ้าสามารถปรับใช้เขาเข้าใจในหลักการนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ องค์กรเล็กองค์กรใหญ่ทำงานเดียวกัน แต่ต่างคนต่างมีจินตนาการของตนเอง ที่จะสร้างสรรค์งานไปตามสากล ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำตามความต้องการการใช้ก็จะทำให้ทุกคนทำงานเข้าถึงกันได้”

EIT BIM Development

แลกเปลี่ยนความรู้กับบุคลากรระหว่างประเทศ

คุณทรงพล กล่าวว่า วสท.ได้แลกเปลี่ยนความรู้ BIM และศึกษาจากต่างประเทศ โดยได้เชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาพูดในงานวิศวกรรมแห่งชาติ ปีพ.ศ. 2560 ทำให้ทราบว่าเขาค้นพบอะไรบ้างและพัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง และเราต้องกลับมาคิดว่าเราจะทำอย่างไร อย่างประเทศอังกฤษพัฒนา BIM เป็น Level 1 และ Level 2 ในส่วนของ Background ต้องกลับมาคุยกันว่ายังพัฒนาต่อไม่ได้เพราะทุกคนยังใช้ไม่ได้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหน่วยงานที่ผลักดัน BIM ในอังกฤษบอกต้องกลับไป Back to basic ก่อนแล้วมาเริ่มต้นใหม่ อาจใช้เวลา 3-4 เดือนแล้ววางแผนใหม่ว่าจะรุกไปด้านใดบ้าง ขณะที่อังกฤษมีแผนที่จะทำ BIM ให้สำเร็จในปีพ.ศ. 2559 จากนั้นมายังไม่คืบหน้าเท่าไร เพราะเอกชนยังใช้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นโครงการหลักที่ใช้ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผลักดัน ทำให้ทราบว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร การก่อสร้างเป็นเม็ดเงินที่รัฐใส่เข้าไป โดยที่เงินลงทุนถึงคนระดับล่างและ SME ได้เร็ว ดังนั้นรัฐจะลงทุนสาธารณูปโภคให้เงินลงทุนหมุนเวียนในวงจรได้ดีกว่าและเร็ว

“สิ่งที่อังกฤษ เขาเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาไม่สำเร็จ เขาเลยเริ่ม Implement ให้แต่ละหน่วยงาน องค์กรไปสร้างมาตรฐานของเขาเองโดยอ้างอิงมาตรฐานหลัก พอมาตรฐานหลักอัพเดท เขาสามารถอัพเดทได้ทันที ไม่ต้องมาปวดหัวว่าของใหม่มาแล้ว ต้องไปรื้อใหม่ทั้งหมด ตรงนี้เขาทำสำเร็จ คือ เป็นจุดหนึ่งที่เราเห็นชัดว่าการนำมาตรฐานไปใช้ในแต่ละขอบเขต ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของการทำงานของแต่ละหน่วยงานย่อย จากองค์กรใหญ่ไปถึงองค์กรเล็ก แต่โครงสร้างอ้างอิงตามมาตรฐานหลักสากลก็จะอยู่ได้เป็นอันเดียวกัน

“ถ้าไม่ฟังที่เขาพูด พัฒนาขึ้นมายังไง บอกเปิดอินเทอร์เน็ตดู สิ่งที่เห็นในอินเทอร์เน็ตกับสิ่งที่เป็นจริง มันคนละเรื่อง สิ่งที่เห็นจากสื่อคือ สิ่งที่สำเร็จแล้ว และสิ่งที่นำเสนอจากความสำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นการตลาด เขาจะบอกด้านดีทั้งหมด ไม่บอกด้านเสีย เพราะขายของไม่ได้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือปัญหาต้องค้นคว้าจากงานวิจัยหรือความจริงที่ปรากฏขึ้น และ Case Study ทำไมถึงสำเร็จต้องมาจากผู้รู้ที่เขาทำจริงมา มีมาตรฐานให้ทำว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ มันจะต่างจากที่เราดีไปหมด ฝรั่งเก่ง ทำได้จริงหรือเปล่า หรือแค่เอาวิดีโอมาตัดต่อให้โอเค”


จับมือสภาคณบดีคณะวิศวฯ – สถาปัตย์ฯ กว่า 90 มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรต้นแบบการสอนระบบ BIM ทั่วประเทศ

สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมในการสอนระบบ BIM เพื่อผลิตบัณฑิตป้อนภาคอุตสาหกรรม วสท.ได้ร่วมมือกับองค์กรทางด้านวิชาชีพออกแบบและก่อสร้างและด้านการศึกษา ซึ่งนอกจากจะสร้างมาตรฐานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร( BIM) ที่เหมาะสมกับการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพของประเทศไทย ปี 2021 แล้ว คณะกรรมการมาตรฐานแบบจำลองสารสนเทศ ฉบับสภาวิชาชีพของ วสท.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานด้านวิจัยและการสร้างหลักสูตรการศึกษาระบบ BIM ในระดับอุดมศึกษาและวิชาชีพเทคนิค เพื่อให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมถึงวิทยาลัยต่างๆ ได้เรียนรู้การทำงานโดยใช้ BIM ในระหว่างการศึกษา 

โดยในปีนี้ได้เชิญทั้งประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิก 62 มหาวิทยาลัย และประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิก 30 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาหลักสูตรต้นแบบการเรียนการสอนระบบ BIM สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั่วประเทศให้ได้เรียนรู้ระบบ BIM เพื่อจะได้พัฒนาความสามารถบุคลากรด้านวิชาชีพรองรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และตรงตามความต้องการของตลาดวิชาชีพเมื่อจบการศึกษา รวมถึงจะได้ฝึกงานระบบ BIM ซึ่งจะทำให้เกิดทักษะและคุ้นเคยกับการทำงานด้วยระบบ BIM เพื่อพร้อมทำงานในอนาคต


BIM เป็นเครื่องมือทำให้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพ ทุกโครงการไม่จำเป็นต้องใช้ BIM เสมอไป

ทรงพล ยมนาค

ในมุมของคุณทรงพล BIM ถือเป็นเครื่องมือ (Tool) ชนิดหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติวิชาชีพมีคุณภาพ โดยที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องมีความรู้และประสบการณ์เพื่อเลือกใช้เครื่องมือนี้อย่างเหมาะสมในแต่ละโครงการ ไม่ใช่ว่าทุกโครงการจะต้องใช้ BIM เสมอไป ด้วยบางโครงการไม่คุ้มค่าในการใช้ BIM

“ผมมักจะถามว่า บ้านเราจะเอา BIM ไปทำอะไร มองหน้ากัน แล้วไม่มีคำตอบ BIM เอาไว้ออกแบบเขียนแบบ ในเมื่อธรรมดาก็ออกแบบเขียนแบบได้ ไม่ต้องเหนื่อยซื้อซอฟต์แวร์ให้ลำบากทำไม ต้องตอบคำถามให้ได้ในบริบท ภาครัฐด้วย คุณจะทำไปอย่างไร อย่าบอกว่าเขาทำกัน เลยทำก็จะไม่มีประโยชน์ จะเห็นว่าเราเป็นผู้ใช้ที่ดี หนึ่ง จ่ายเงิน สอง เอามาใช้โดยหลับหูหลับตา ใช้ไปก่อน แต่เราไม่เข้าใจว่าจะไปทำอะไร วิธีการทำอย่างไรและใช้แบบไหน อะไรที่เหมาะสม ยุคนี้เป็นยุคที่เราเริ่มใช้เป็นแล้ว ยุคเมื่อ 10 ปีก่อนเป็นยุคที่เรายังเป็นยุคแสวงหาอยู่ คลำทางเหมือนตาบอดไปเรื่อยๆ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการลองใช้เป็นรูปธรรมแล้วในโครงการของเอกชน จะรู้แล้วว่าใช้ยังไง บางคนก็รู้มากน้อยต่างกัน ถ้ามองลักษณะนี้ วันนี้คุณทำ BIM คุณใช้มาตรฐานตัวไหน ส่วนใหญ่เรียนรู้ต่างกรรม ต่างวาระ ที่คล้ายกันคือ เปิดยูทูป ก็เป็นอาจารย์ยูทูป อาจารย์กูเกิล นอกจากนั้นลองทำเองมีโอกาสไปเรียนบ้าง ถูกผิดว่ากันไป คือ สภาพของเราที่เกิดขึ้นมา มีใครมั้ยที่เป็นแม่งานจัดการเรื่องนี้ให้เป็นหมวดหมู่ ไม่มี เราเป็นผู้ใช้ที่ดี และใช้มันไป ซื้อแล้วก็ใช้ มันก็ออก มาทุกปี ซื้อใหม่ๆ แต่ไม่รู้ว่าต้องบริหารจัดการยังไง คุณประโยชน์ยังไง ใช้ไม่ได้เต็มที่ แน่นอนว่าเราไม่ใช่เจ้าของผู้ริเริ่มเทคโนโลยี เราก็ต้องซื้อตลอด มันก็ไม่ได้ รอเขาเมื่อไรมีเวอร์ชั่นใหม่ มือถือเหมือนกัน ไม่จำเป็นก็ต้องซื้อ ดูแล้วมันเท่ BIM เหมือนกัน ผมทำ BIM มันเท่ ทำเป็นหรือเปล่าไม่รู้ แต่เท่แล้ว”


Mindset ของคนทำ BIM จะต้องทำงานเป็นทีม ทำให้เกิดแนวคิดใหม่และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

BIM Design

หัวใจสำคัญในการทำ BIM จะต้องทำงานกันเป็นกลุ่ม ทิ้งใครคนหนึ่งคนใดไม่ได้ แต่ในระหว่างการทำงานแต่ละช่วงอาจจะก่อนหลังต่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่งานเริ่มจากสถาปนิก ถ้าสถาปนิกออกแบบโดยไม่คำนึงถึงโครงสร้าง ไม่สามารถสร้างได้ จะต้องแก้แบบใหม่ และกว่าจะตกลงและก่อสร้างได้จริง ใช้เวลานานมาก แต่ถ้าระหว่างที่เริ่มงาน มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันว่าต้องการได้แบบนี้ ทำได้หรือไม่ บอกทำได้แต่ต้องทำอย่างนี้ แทนที่จะกลับไปทำใหม่ก็เป็นทางลัด หากสถาปนิกเกิด Advance ขึ้นมา ถ้าทำแบบนี้ คิดแบบนี้ได้หรือไม่ Design ก็จะ Progress ขึ้นมา ก็ทำงานไปกันได้ ตามกฎเกณฑ์ Span ลึกแค่นี้ ต้องคานอย่างนี้ สถาปนิกบอกใช้วัสดุอื่นที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ วิศวกรก็แนะนำว่าอย่างนี้ได้ ก็จะไปอีกรูป แทนที่จะมาคิดอย่างเดียวว่าต้องคอนกรีต นี่คือการทำงานแบบแลกเปลี่ยน ทำให้มีแนวคิดใหม่และพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากวัฒนธรรมแล้วมีเรื่อง Mindset ของคน ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้เขาปรับว่า ตรงนี้มาอีกยุคแล้วไม่ใช่ยุคเก่าแล้ว และวิธีคิดของคนทำงานต้องเป็นทีม เป็นกลุ่มก้อน ไม่ใช่มาคนเดียวเป็น ซูเปอร์แมน ทำได้ตามอำเภอใจ ทำงานสามคน ต้องแลกเปลี่ยนความคิด คุยกัน ต้องมีความรับผิดชอบของแต่ละคนให้สามารถทำงานร่วมกันได้ บางคนทำงานอาจไม่ได้มองคนอื่น จบแล้วใช้ไม่ได้ แก้ใหม่แต่ระหว่างที่ทำคุณเริ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วปรับเข้าหา ดูเหมือนจะยุ่ง สุดท้ายคุณไม่ต้องมาแก้ใหม่

“มีคำพูดหนึ่งที่คุยกัน BIM เป็นตัวชี้สิ่งที่เกิดปัญหา แต่คนจะต้องแก้ปัญหาและตัดสินใจ อย่าไปคิดว่า BIM ทำให้ปัญหานี้หมดไป ไม่ใช่ BIM จะหยิบยกปัญหาขึ้นมา หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้าเป็นไง แต่สิ่งที่ดี คือ คนต้องตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ มีปัญหาแล้วไม่แก้ BIM ก็จะไม่ช่วยอะไร เพราะ BIM เป็นเครื่องมือบอกปัญหาได้ ใช้เทคโนโลยีมาตรวจจับก็เห็นเลย พอตรวจสอบเทียบกับแบบ แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ยังไง คนต้องมานั่งคุยกัน เช่นในแบบไม่มีรู แต่นี่มีรู แล้วจะอุดยังไง ใครอุดๆแล้วต้องได้ตามนี้นะ มันก็แก้ปัญหาได้”


แลกเปลี่ยนความเห็นโดยใช้โมเดลเสมือนจริงจากกายภาพ ให้เข้าใจตรงกัน

คุณทรงพล กล่าวว่า ในการแลกเปลี่ยนความเห็นจะต้องอาศัยโมเดลเสมือนจริงจากกายภาพ ถ้าเห็นเหมือนกัน ก็จะเข้าใจได้ดีแต่ถ้าเห็นเป็นเส้น กระดาษ สถาปนิกไม่สามารถตีความให้ตรงกับวิศวกรได้ เพราะเส้น 2 เส้นวิศวกรบอกว่าคาน แต่สถาปนิกบอกเส้น 2 เส้นเป็นผนัง คือไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเป็น Object มาเลยว่าผนังก็ผนัง คานก็คาน สถาปนิกเห็นชัดเจนวางอยู่ ตำแหน่งถูกต้อง เห็นได้ว่าต้องทำงานร่วมกัน

“วันนี้คนที่รอบรู้เรื่อง BIM ได้ต้องมีประสบการณ์การทำงานจากหน้างาน หรืองานก่อสร้าง สถาปนิกอาจจะไม่รู้ลึกเหมือนผู้รับเหมา แต่สถาปนิกเขารู้เรื่องการใช้อาคารของมนุษย์ รู้ว่าทำแบบให้ไปสร้างอย่างไรตามที่ออกแบบไว้ ส่วนวิศวกรจะบอกเรื่องความแข็งแรงประสิทธิภาพว่าสร้างได้มั้ย ติดตั้งได้มั้ย ผู้รับเหมาบอกวิธีการสร้าง ถ้าสามส่วนนี้มาคุยกันให้รู้เรื่อง สถาปนิกสามารถออกแบบงานให้ดีได้ แทนที่ว่ามีบาง Case ออกแบบเป็นผนังภายนอก วันหนึ่งก็บอกว่าเขียนแบบเป็นเส้น ผู้รับเหมาบอกว่าเป็นโครงเหล็ก ผู้ออกแบบบอกว่าไม่ใช่อยากได้เรียบๆ แบนๆ ก็มีเงื่อนไขแตกต่างว่าจะเลือกแบบไหน? Pre-cast ได้หรือไม่หรือก่ออิฐ หรือ Metal Sheet ถ้าต้องเปลี่ยนแล้ว เจ้าของจะจ่ายอันไหน เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลา อันไหนทำเร็ว-ช้า ใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้สำคัญ ต้องมองภาพรวมและประสานงานแต่แรก แล้วตัดสินใจ แล้วเดินโครงการก็จะราบรื่น”


ชี้ผู้รับเหมาจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี BIM มาก จากการบริหารจัดการบางเรื่องที่ซับซ้อนได้ก่อน

ถึงวันนี้สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมาก่อสร้างต่างตื่นตัวในเรื่อง BIM กันทั้งหมด เพราะเล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของ BIM ขึ้นอยู่กับว่าจะ Implement ในองค์กรได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ผู้รับเหมาจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี BIM มาก จะเห็นได้จากการบริหารจัดการบางเรื่องที่ซับซ้อนได้ก่อน อย่างเช่น ผู้รับเหมาต้องเขียนแบบก่อนก่อสร้าง การเขียนแบบจะดีขึ้น เป็นเงินย้อนกลับมา เสนอแบบและ Approve แบบจากที่ปรึกษา โดยไม่ต้องทุบใหม่

“ในส่วนของผู้รับเหมา ถ้าเจ้าของงานสั่งให้ทำ BIM เขาถึงทำ เขาไม่สามารถสั่งให้คนจ่ายเงินทำ เขาจะทำเพื่อบริการคนจ่ายเงิน เจ้าของโครงการอาจจะไม่ระบุว่าให้ใช้ BIM แต่ผู้รับเหมาก็ทำ BIM ของเขาเอง หรือผู้ออกแบบทำ BIM เขาก็ทำเพราะได้ประโยชน์จาก BIM เต็มๆ ผู้ออกแบบได้ค่างานออกแบบกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้รับเหมาได้ค่างานก่อสร้างเท่าไร ถ้าก้อนใหญ่ได้ Return กลับมาก็คุ้ม”


ผู้รับเหมาขนาดใหญ่ในไทยต่างใช้ BIM ให้งานเร็ว – ควบคุมงบประมาณได้

BIM EEC

ปัจจุบัน ผู้รับเหมาขนาดใหญ่ในไทยใช้ BIM กันหมดแล้ว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ทางระบบราง รวมทั้งโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่างนำ BIM มาใช้หรือมีเงื่อนไขนำมาใช้ แต่อาจจะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่เสมอไปที่ใช้ BIM ขึ้นอยู่กับว่าโครงการนั้นใช้ BIM แล้วคุ้มหรือไม่ บางงานจะมีไฟล์ Cad มา ผู้รับเหมาเอา Cad แปะ แล้วก็ Approve ไม่ต้องใช้ BIM แต่ผู้รับเหมาต้องไปแก้ปัญหาเรื่องวิธีการทำงาน ซึ่งเป็นธรรมชาติของผู้รับเหมาว่าเวลาเขาทำต้อง Combine แบบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีเดิมหรือวิธีไหน

โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ การจะทำให้เร็ว ให้กระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่ออกแบบ ประมูล และก่อสร้าง ซึ่งใช้เวลานานเป็นปี ทำอย่างไรถึงจะรวดเร็วและเคลียร์ สามารถควบคุมงบประมาณได้

“สมมติผมมีอยู่ 100 บาท ผมวิเคราะห์มาแล้ว ผมประหยัดได้ 10 บาท เอาเงิน 10 บาทมาเป็นงบประมาณใหม่ที่สร้างต่อได้อีก แต่ผมมี 100 บาทต้องคุม 100บาท จ่ายให้ครบ จบแต่ไม่ต้องคืนหรือคืนไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้ หรือสิ่งที่พนักงานปรับปรุงซ่อมแซมดูแล ต้องใช้เงินเท่าไร ก็คาดคะเนได้ เงินที่เหลื่อมนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่ว่ากลายเป็นเงินเสียไป ซื้อใหม่อย่างเดียว ถ้าจัดการตรงนี้ได้ งบประมาณจะจัดสรรได้ดี”


เอกชนใช้เทคโนโลยี BIM ลดต้นทุนการผลิต – สร้างยอดขายทางการตลาด

คุณทรงพล กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทส่วนใหญ่ที่ทำ BIM ขึ้นมา เพื่อหวังผลทางด้านการตลาด ได้กระจายสินค้าไปสู่คนใช้งานได้รวดเร็วมากที่สุด ตรงกับผู้ใช้งาน เป็นการเปลี่ยนการทำตลาดแบบเดิม ที่จะต้องมีฝ่ายขายนำสินค้าไปขาย และต้องรอลูกค้าตัดสินใจ แต่ตอนนี้บนเว็บไซต์ ซึ่งมีแพลตฟอร์มให้ลูกค้าสามารถคลิกและดาวน์โหลดโปรแกรมมาใช้ได้ทันที โดยที่บริษัทจะเก็บข้อมูลว่าลูกค้ารายใดจากหน่วยงานไหนนำไปใช้ และใช้อย่างไร ทำให้สามารถติดต่อกับลูกค้าได้โดยตรงและให้ข้อมูลกับลูกค้าได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“เอกชนใช้ BIM เพราะต้องการลดต้นทุน และสร้างภาพพจน์ทางธุรกิจ การใช้ประโยชน์ด้านข้อมูล เขาเริ่มเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้ว กระบวนการยังไงต่างคนต่างทำ ตามวิธีที่เขาคิดเอง ก็สร้างสภาพแวดล้อมมา เขาทำอย่างนี้ ถามว่าคุยกับวงอื่นได้มั้ย ทำได้ ตามแบบฉบับของบริษัทเขาเอง บริษัทใหญ่ๆ ต้องการขับเคลื่อนไปในอนาคต ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดต้องมี Object ที่มี Property ที่บอกว่าทรัพย์สินตัวนี้มีอะไรบ้าง และคนก็ไปใช้เพื่อประโชน์ทางธุรกิจ แต่ในรายละเอียด ไม่รู้ เขาก็เอานี้เป็นจุดขาย”

คุณทรงพล กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า BIM คือ เครื่องมือ แต่การออกแบบอยู่ที่คน ซึ่งจะออกแบบให้ไร้ขอบเขตก็ได้ โดยเลือกใช้เครื่องมือคือ BIM ให้ทุ่นแรงขึ้น จะเห็นได้ว่าภูมิทัศน์ของการกำกับวิชาชีพตรงนี้เริ่มใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพมาช่วย มีข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ เราจะไม่ทำ BIM เพื่อให้งานของเราเป็น BIM แต่เราจะทำงานของเราให้ BIM เป็นเครื่องมือให้มันรับใช้เราในการใช้งาน เป็นส่วนหนึ่งของงาน เราจะไม่ได้รับประโยชน์เลยถ้างานของเรารับใช้ เทคโนโลยี หรือ BIM เพียงอย่างเดียว”