Construction

ครม.อนุมัติปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี เป็น 56,047.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.37 ล้านบาท

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2564  ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม คณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี  (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (โครงการฯ) จากเดิม 55,927 ล้านบาท เป็น 56,047.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.37 ล้านบาท โดยปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รายการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ช่วงกิโลเมตร 38+500.000 – กิโลเมตร 44+266.833 ตอน 12 จากเดิม 1,911.11 ล้านบาท เป็น 2,031.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.37 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. โครงการฯ ในส่วนของสัญญางานโยธา ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งแบ่งออกเป็น 25 สัญญา โดยปัจจุบัน (ณ เดือนกันยายน พ.ศ. 2564) อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา 21 สัญญา และก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 สัญญา มีผลงาน 61.24% (เร็วกว่าแผน 3.63%) รวมทั้งจ่ายค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินครบถ้วนแล้ว

2. กรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า โครงการฯ (ตอน 12) มีระยะทาง 5.77 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566 มีผลงาน 28.60% เร็วกว่าแผน 1.24% (แผนงาน 27.36%) แต่ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการตอนดังกล่าวมีปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขแบบก่อสร้างซึ่งส่งผลให้วงเงินค่าก่อสร้างปรับเพิ่ม จากเดิม 1,911.11 ล้านบาท เป็น 2,031.48 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 120.37 ล้านบาท หรือ 6.30% ของค่างาน ตามสัญญาเดิม)ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการฯ (ตอน 12) ได้พิจารณาแล้วมีมติว่าการปรับรูปแบบของโครงการฯ เกิดจากการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของหน่วยงานที่โครงการฯ ตัดผ่าน เพื่อบรรเทาผลกระทบ ที่เกิดขึ้นกับชุมชน และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ โดยรูปแบบการแก้ไขปัญหาตามสัญญาใหม่เป็นรูปแบบที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้ว โดยการดำเนินการดังกล่าวมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

2.1 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง

กรณีที่ ปรับรูปแบบสะพาน โดยการยกระดับสะพาน

รูปแบบตามสัญญาเดิม เป็นงานก่อสร้างสะพานข้ามคลองชลประทาน จำนวน 2 จุด โครงสร้างเป็นสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปตัวยู (U-Girder) ความยาวสะพานประมาณ 19.40 – 25.40 เมตร ความสูงช่องลอดใต้สะพาน 4 เมตร ปรับเพิ่มรูปแบบตามสัญญาใหม่ช่วงความยาวสะพานจากเดิม 24.50 เมตร เป็น 40 เมตร สำหรับกิโลเมตร 41+700.000 ช่วงความยาวสะพานจากเดิม 20 เมตร เป็น 30 เมตรสำหรับกิโลเมตร 42+750.000 ตามรูปแบบสัญญาใหม่ เพิ่มความสูงของช่องลอดใต้สะพาน จากเดิม 4 เมตร เป็น 4.50 เมตรก่อสร้างสะพานขาไปและขากลับเพิ่มอีก 3 ช่วง ช่วงละ 20 เมตร รวมทั้งสิ้น 60 เมตร เพื่อแก้ไขความยาวช่วงสะพาน (Span) ให้สอดคล้องกับความกว้างของคลองชลประทาน โดยไม่ให้ตอม่อสะพานอยู่บนคันคลอง พร้อมทั้งปรับความสูงของช่องลอด ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมชลประทาน

กรณีที่ ปรับเพิ่มโครงสร้างปรับการทรุดตัวบริเวณคอสะพาน (Bearing Unit)

รูปแบบตามสัญญาเดิม งานก่อสร้างคันทางดินถมสลับกับงานก่อสร้างสะพาน ปรับเพิ่มรูปแบบตามสัญญาใหม่ เพิ่มโครงสร้างปรับการทรุดตัวบริเวณคอสะพาน (Bearing Unit) ให้มีความสอดคล้องกับสภาพธรณีวิทยาพื้นที่โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธรณีวิทยาในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างตอนที่ 12 เนื่องจากการเจาะสำรวจเพิ่มเติมพบว่า ชั้นดินมีสภาพธรณีวิทยาแปรปรวน และมีคุณสมบัติยุบตัวสูง ส่งผลต่อการทรุดตัวของคันทาง อีกทั้งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีรถบรรทุกขนส่งผลิตผลการเกษตรสัญจร ทำให้ต้องยกความสูงของช่องลอดสะพานบางแห่ง

2.2 กรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในภาพรวมของโครงการฯ (จำนวน 25 ตอน)

1.ค่าก่อสร้างงานโยธา กรอบวงเงิน 38,475.00 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562) เสนอขอปรับเพิ่ม

ในครั้งนี้ 120.37 ล้านบาท ยอดรวม 38,595.37 ล้านบาท

2.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรอบวงเงิน 17,452.00 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562) ไม่ขอปรับเพิ่มในครั้งนี้ รวมทั้งค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 55,927.00 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562) เสนอขอปรับเพิ่มในครั้งนี้ 120.37 ล้านบาท ยอดรวม 56,047.37 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้เห็นชอบให้กรมทางหลวง (ทล.) เพิ่มวงเงินงบประมาณรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์โครงการฯ (ตอน 12) ในวงเงิน 120.37 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว (ซึ่งเพิ่มจากวงเงินตามสัญญา 1,911.11 ล้านบาท เป็นภายในกรอบวงเงิน 2,031.48 ล้านบาท)

3.การก่อสร้างในส่วนของงานโยธาต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อส่งมอบพื้นที่ตามสัญญาการให้เอกชนร่วมทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ดำเนินการต่อไป โดยกรมทางหลวง (ทล.) จะทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างและงานโยธาให้กับเอกชนคู่สัญญาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป และเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่าง ๆ เช่น ระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจร เป็นต้น โดยจะเริ่มเปิดทดลองให้บริการ Soft Opening ภายในปี พ.ศ. 2566 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2567 ตามแผนการดำเนินงานต่อไป