Construction

ทช. เตรียมเข้าพื้นที่ขยายถนนชัยพฤกษ์ 10 เลน เแก้ปัญหาจราจร รองรับการเติบโตพื้นที่กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี คาดแล้วเสร็จปี’67

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เตรียมดำเนินโครงการขยายถนนชัยพฤกษ์ 10 เลน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รองรับการเติบโตพื้นที่กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานีในอนาคต คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2567

อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ถนนชัยพฤกษ์เป็นถนนสายหลักในแนวตะวันออก – ตะวันตก พื้นที่ฝั่งเหนือของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมโยงกับพื้นที่ย่านธุรกิจและสถานที่ราชการตามแนวถนนแจ้งวัฒนะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ทางช่วงแรกจากสะพานพระราม 4 ถึงถนนราชพฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 สำหรับช่วงที่ 2 จากถนนราชพฤกษ์ถึงถนนบางกรวย – ไทรน้อย ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2558 ถนนชัยพฤกษ์จึงกลายเป็นเส้นทางสายแรกที่เชื่อมต่อย่านตัวอำเภอปากเกร็ดเข้ากับย่านตัวอำเภอบางบัวทองได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร มีปริมาณจราจรกว่า 40,000 คันต่อวัน แต่เนื่องจากการขยายตัวของพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่สองข้างทางมีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ถนนชัยพฤกษ์มีสภาพการจราจรที่ไม่คล่องตัวและมีแนวโน้มที่จะติดขัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับเมื่อถนนราชพฤกษ์ – ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ – ใต้) เปิดใช้งาน ยังทำให้ถนนชัยพฤกษ์สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่จังหวัดปทุมธานีได้รวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงเป็นการดึงดูดปริมาณจราจรให้เข้ามาใช้เส้นทางถนนชัยพฤกษ์มากตามไปด้วย

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ทช. จึงเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างถนนชัยพฤกษ์ โดยจะแบ่งเป็นงานก่อสร้างปรับปรุงถนนคู่ขนานระดับดิน ขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง จากเชิงลาดสะพานพระราม 4 ถึงทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ และงานปรับปรุงขยายผิวจราจร ขนาด 1 ช่องจราจรต่อทิศทาง จากทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ถึงถนนบางกรวย – ไทรน้อย รวมระยะทางทั้งหมด 6.892 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระอุดม สะพานข้ามคลองบางภูมิ รวมจำนวน 4 แห่ง และงานก่อสร้างทางเท้า ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ซึ่งได้เริ่มเข้าดำเนินการก่อสร้างในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 902 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2567 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากจะเป็นการยืดอายุการใช้งานของถนนชัยพฤกษ์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของถนนชัยพฤกษ์ให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต ทั้งยังช่วยแบ่งเบาการจราจรที่ต้องการเดินทางออกนอกเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนได้อีกทางหนึ่งด้วย