Saturday, April 27, 2024
Latest:
Construction

ทล. ขยาย ทล.304 สายฉะเชิงเทรา – ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มประสิทธิภาพคมนาคมขนส่งบนโครงข่ายทางหลวง – สนับสนุนโครงการ EEC

กรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 และสำนักก่อสร้างสะพาน ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 304 สายฉะเชิงเทรา – ตำบลเขาหินซ้อน ตอนอำเภอพนมสารคาม – ตำบลเขาหินซ้อน และสะพานข้ามแยกทางหลวงหมายเลข 319 (ถนนสุวินทวงศ์) พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ กม. ที่ 102+500 – กม. ที่ 126+000 ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทราเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) ด้วยศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมต่าง ๆ จึงมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 จึงเป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ ทล. เล็งเห็นความจำเป็นที่จะดำเนินการก่อสร้างใหม่ เพื่อให้มีความสะดวกและปลอดภัยเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้เส้นทาง

ทล. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงสายดังกล่าว โดยแบ่งงานก่อสร้างเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ระหว่าง กม. ที่ 102+500 – กม. ที่ 113+000 ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และตอนที่ 2 ระหว่าง กม. ที่ 113+000 – กม. ที่ 126+000 ระยะทาง 13 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษจากเดิม 4 ช่องจราจรเป็น 6 – 7 ช่องจราจร ผิวทางคอนกรีตกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้างข้างละ 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกดร่อง (Depressed Median) สลับกับเกาะกลางแบบยก (Raised Median) กว้างประมาณ 13 เมตร

สำหรับในพื้นที่ชุมชนออกแบบเป็น 6 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบยกกว้าง 5.10 เมตร มีทางบริการขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร พร้อมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรง 3 แห่ง สะพานลอยคนเดินข้าม 2 แห่ง และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบโครงการก่อสร้างประมาณ 2,314 ล้านบาท

ปัจจุบันงานก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้วกว่า 60% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 ทั้งนี้ มีบางช่วงที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการคมนาคมขนส่งบนโครงข่ายทางหลวงที่สำคัญของประเทศ แก้ไขปัญหาการจราจรและรองรับการจราจรที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ช่วยส่งเสริมศักยภาพการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา