Friday, April 19, 2024
Latest:
News

ก.คมนาคม พัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำในประเทศ ขับเคลื่อนการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ลดต้นทุนโลจิสติกส์

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะตรวจราชการตรวจติดตามความคืบหน้าการเดินเรือเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Land Bridge) ให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ณ ท่าเรือจุกเสม็ด จังหวัดชลบุรี

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย รวมทั้งสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก มุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง กำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดต้นทุน โลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าของประเทศ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) จากถนนสู่เรือให้มากขึ้น ซึ่งได้มอบให้กรมเจ้าท่า (จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งพัฒนาโครงการสำคัญ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้า เชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตกให้เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้

กระทรวงคมนาคมจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ควรจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 2 เส้นทาง คือ 1.การเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับสายการเดินเรือ ซึ่งปัจจุบัน จท. ได้ร่วมกับบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด นำเรือ Ro-Ro Ferry “The Blue Dolphin” เดินเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าว เส้นทางระหว่าง จังหวัดชลบุรี – จังหวัดสงขลา เปิดให้บริการเส้นทางสัตหีบ – สงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การพัฒนาสายการเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศ โดยได้เริ่มทดสองให้บริการเดินเรือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และมีแผนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2565 โดยระยะแรกจะเปิดให้บริการเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด) – ท่าเรือสวัสดิ์ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจร ลดปริมาณรถในการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 90,000 คันต่อปี และ 2.การเดินเรือในระดับ International แบ่งเป็น สายการเดินเรือฝั่งตะวันออก (East) ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตก (West) ได้แก่ แอฟริกา และยุโรป หรือกลุ่ม BIMSTEC คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ.2565

สำหรับเรือ The Blue Dolphin ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก จท. มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งมีตารางเดินเรือที่แน่นอน สามารถเดินทางระหว่างภาคตะวันออก – ภาคใต้ได้อย่างสะดวก โดยเรือมีขนาด 7,003 ตันกรอส ยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 5.7 เมตร มีพื้นที่รองรับการขนส่งยานพาหนะ ความยาว 916 เมตร สามารถรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกได้ประมาณ 100 คัน รองรับผู้โดยสารได้ 536 คน เดินเรือด้วยความเร็วประมาณ 20 นอต หรือประมาณ 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 20 ชั่วโมง ให้บริการ 1 เที่ยว ไป – กลับต่อสัปดาห์ ในวันอังคาร – พุธ และจะขยายการให้บริการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งการเปิดให้บริการเดินเรือดังกล่าว จะทำให้ประชาชนและผู้ใช้บริการที่ต้องการเดินทางหรือขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออก – ภาคใต้ มีทางเลือกในการเดินทาง การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรทางบก ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดต้นทุนการบำรุงรักษาถนน เสริมศักยภาพสายการเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) และสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ EEC

กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) ระหว่าง จังหวัดชุมพร – จังหวัดระนอง ให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพิจารณาบทเรียนและความสำเร็จของช่องทางการเดินทาง โดยเป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งจะมีการจัด Road show ในงานแสดงสายการเดินเรือระดับโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการเดินทางและค่าใช้จ่ายและมาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตุรกี ฝรั่งเศส อังกฤษ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีปริมาณสินค้าเข้าประมาณ 20 ล้านทีอียู ถือเป็นความท้าทายที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาใช้เส้นทาง Land Bridge เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

สำหรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า นั้น กทท. ได้ก่อสร้าง ทลฉ. เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยก่อสร้าง ทลฉ. ระยะที่ 1 เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ.2534 และพัฒนาก่อสร้าง ทลฉ. ระยะที่ 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากรายงานการศึกษา พบว่าปริมาณตู้สินค้ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มเกินกว่าขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังทั้ง 2 ระยะ กระทรวงคมนาคม จึงได้เร่งพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 โดย กทท. ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุน (ในส่วนท่าเทียบเรือ F) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 การพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้มากถึง 7 ล้านทีอียูต่อปี เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ ทลฉ. ทั้ง 3 ระยะ มีขีดความสามารถการรองรับตู้สินค้าได้ไม่น้อยกว่า 18 ล้านทีอียูต่อปี พร้อมกับจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นต่าง ๆ ให้มีความพร้อม เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่หลังท่าโดยการขนส่งทางล้ำน้ำและทางรถไฟ ซึ่งได้วางแผนขยายขีดความสามารถให้ ทลฉ. ระยะที่ 3 สามารถรองรับตู้สินค้าผ่านทางรางได้อีก 4 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ล้านทีอียู รวมเป็น 6 ล้านทีอียูต่อปี

นอกจากนี้ ท่าเรือชายฝั่งที่อยู่ในโครงการ ทลฉ. ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มอีก 1 ล้านทีอียูต่อปี ทั้งนี้ จะพิจารณานำระบบเทคโนโลยี Automated Container Terminal มาช่วยบริหารจัดการท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าของ ทลฉ. ต่อไป โดยกทท. ได้รายงานผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณปี พ.ศ. 2564 ทลฉ. มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 8.41 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 10.18% และปริมาณเรือเทียบท่ารวม 11,041 เที่ยว ลดลงร้อยละ 0.46 กำไรสุทธิ ประมาณ 6,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณปี พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ เพื่อรองรับและสนับสนุนโครงการที่สำคัญของกระทรวงฯ สามารถเชื่อมต่อกับการคมนาคมขนส่งทุกมิติ ทั้งทางบก ราง และอากาศ เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก การขยายเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 เพื่อเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาการบูรณาการระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟทั่วประเทศ (Motorway and Railway Master Plan : MR-MAP) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Landbridge ชุมพร – ระนอง) เป็นต้น

หากพัฒนาโครงการที่สำคัญให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายในทุกมิติได้แล้วเสร็จ สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงไปยังประเทศใกล้เคียงและนานาประเทศ พัฒนาไปสู่การเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งของภูมิภาคในทุกรูปแบบการขนส่ง (Hub for Connectivity) เพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค สามารถพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป