Friday, April 26, 2024
Latest:
News

Obodroid จับมือ แมกโนเลีย ควอลิตี้ พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทย ตอบโจทย์ความต้องการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทย เช่น หุ่นยนต์ ไข่ต้ม (KAITOMM) หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot), เอสอาร์วัน (SR1) หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย , หุ่นยนต์ปิ่นโต (PINTO) หุ่นยนต์ส่งของเพื่อช่วยส่งของระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล และ หุ่นยนต์กระจก (MIRROR)’ แท็บเล็ตพร้อมแอปพลิเคชันเพื่อใช้ในการสื่อสารทางไกล ที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย ร่วมกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านอื่น ๆ จนครอบคลุมถึงภาคการบริการทั่วไปในอนาคต


Obodroid จับมือ แมกโนเลีย ควอลิตี้ พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทย รองรับธุรกิจอสังหาฯ -งานบริการ

พลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์

พลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) กล่าวว่า Obodroid เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมวิศวกรชั้นนำของประเทศไทยที่มีความรู้ความชำนาญด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & AI) มารวมไว้ด้วยกัน เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการ (Service Robots) สำหรับนำไปใช้งานจริงในงานบริการด้านต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย, หุ่นยนต์ต้อนรับ, หุ่นยนต์โฆษณา, หุ่นยนต์ส่งของ, หุ่นยนต์เพื่อนผู้ช่วยส่วนตัว เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สาธารณะ ห้างสรรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล การบริการทางการแพทย์ รวมถึงในพื้นที่ส่วนตัว เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัยต่าง ๆ เนื่องจากหุ่นยนต์มีความฉลาดในการคิด แยกแยะ ป้องกันภัยระบบการทำงานที่ผู้พัฒนาได้โปรแกรมการทำงานไว้อย่างลงตัว เป็นต้น

เพื่อให้มีการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มากยิ่งขึ้น ทางบริษัทฯ จึงได้จับมือร่วมกับ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านอื่น ๆ จนครอบคลุมถึงภาคการบริการทั่วไป เพื่อตอบโจทย์และเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย และประชาชนทั่วไปในอนาคต โดยเน้นให้หุ่นยนต์สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันกับการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน เช่น สามารถทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับโครงการที่พักอาศัยและสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หุ่นยนต์ปิ่นโต

มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

ดร. มหิศร ว่องผาติ

ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการสร้างหุ่นยนต์หลากหลายชนิดเพื่อนำมาใช้ร่วมทำงาน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตามการใช้งาน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกของกลุ่มคนทุกวัย โดยเฉพาะคนสูงอายุและเด็กเล็ก ๆที่ให้การตอบรับการนำหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งทีมวิจัย Obodroid ได้คิดค้นหุ่นยนต์ขนาดเล็กมากว่า 6 ปี โดยพัฒนารูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์ แบตเตอรี่สำหรับใช้งานให้มีความเหมาะสมในการใช้งานในทุกกๆพื้นที่สำหรับทุก ๆภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ได้ร่วมทำงานกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MI Workspace) ในการผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบ “ปิ่นโต (PINTO)” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้ และ “หุ่นยนต์กระจก (MIRROR)” เป็นแท็บเลตใช้สำหรับสื่อสารทางไกล สามารถใช้พูดคุยระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องกดรับสาย และคนไข้สามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่วยลดทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง รวมทั้งดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่สะสมให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่อไป ตอบโจทย์คณะแพทย์และพยาบาลในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตได้ดียิ่ง โดยหุ่นยนต์ปิ่นโตและแท็บเลตกระจกนี้ เป็นการใช้งานแบบอิสระและเบ็ดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องมือหรือโครงสร้างอื่นใดเพิ่มเติม ทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถใช้งานได้ทันที ปัจจุบันหุ่นยนต์และอุปกรณ์แท็บเลตชุดนี้ได้ถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆในทุกภูมิภาคทั่วประเทศแล้วกว่า 1,050 ชุด


ทำความรู้จัก “หุ่นยนต์ไข่ต้ม (KAITOMM)” และ “หุ่นยนต์ เอสอาร์วัน (SR1)”

บริษัทฯ ยังได้พัฒนาหุ่นยนต์ “ไข่ต้ม (KAITOMM)” เพื่อให้เป็นหุ่นยนต์เพื่อนและผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) ที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของคนทุกวัย ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ทำให้การเชื่อมต่อกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยสามารถรับคำสั่งและพูดคุยกับผู้ใช้งานในภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Automation) เพื่อสั่งการเปิดและปิดไฟ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆภายในที่พักอาศัยได้ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่าง ๆเพื่อช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าของผู้ใช้งาน และหุ่นยนต์มีกล้องภายในตัว สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือโทรวิดีโอคอลได้ และมีฟังก์ชันอื่น ๆของหุ่นยนต์สามารถตั้งเตือน, ตั้งปลุก, เล่นเพลง, สวดมนต์, เช็คสภาพอากาศ และอื่นๆ เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัยเพื่อเป็นผู้ช่วยผู้ดูแลให้กับผู้ใช้งานได้ในทุกเพศทุกวัยขณะนี้มีการสั่งซื้อเฉพาะหุ่นยนต์ไข่ต้มเข้ามากว่า 2,000 ตัวแล้ว

หุ่นยนต์ เอสอาร์วัน (SR1)

ส่วน “หุ่นยนต์ เอสอาร์วัน (SR1)” เป็นหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System) ประกอบด้วยกล้องรอบตัว 360 องศา เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) ในหุ่นยนต์ตัวนี้คือ เทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุในซอฟต์แวร์ของตัวหุ่นยนต์ ทำให้สามารถตั้งค่าโปรแกรมในการตรวจจับวัตถุต่าง ๆตามที่ต้องการได้ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ พร้อมทั้งส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยรับทราบได้ทันที

นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันการโทรฉุกเฉินที่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้คนรอบ ๆสามารถกดปุ่มเพื่อโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นพิเศษ จากตัวหุ่นยนต์ได้ในทันที เหมาะสำหรับการใช้งานในโครงการที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ต้องดูแลรักษาด้านความปลอดภัยอีกด้วย สำหรับราคาของหุ่นยนต์ไทยนั้นจะถูกกว่านำเข้า แต่ประสิทธิภาพดีเยี่ยมไม่แพ้หุ่นยนต์นำเข้า คาดว่าในอนาคตราคาจะลดลงมาก หากผู้ประกอบการร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ไทยออกสู่ตลาดกันมากยิ่งขึ้น


คาดตลาดหุ่นยนต์ขนาดเล็กช่วยเหลือผู้สูงอายุและเด็ก แข่งขันสูงขึ้นในเรื่องบริการ ง่ายต่อการใช้งาน

สำหรับข้อจำกัดของหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นนั้น ดร. มหิศร มองว่าอาจจะมาจากการใช้คำสั่งแปลกๆ คล้ายกับคำสั่ง Siri หรือ Google ซึ่งหากใช้คำสั่งยากเกินไปหุ่นยนต์ไม่สามารถตอบสนองได้ แต่จะเป็นเพียงข้อจำกัดในระยะแรกในช่วงทดสอบ 1-2 ปี ต่อเมื่อมีการปรับการทำงานให้รองรับแล้วคาดว่าในอนาคตระบบการทำงานจะมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น ส่วนการชาร์จแบตของตัวหุ่นยนต์ทั้ง 4 แบบนั้น หากชาร์จเต็ม 1 ครั้ง สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่ ในส่วนของราคาหุ่นยนต์เริ่มต้นประมาณ 30,000-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่นำไปใช้ในงาน

ในอนาคตหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ช่วยเหลือคนสูงอายุและเด็กตลาดจะมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่แข่งขันกันในเรื่องของราคา แต่จะแข่งขันในเรื่องบริการและความสะดวก และง่ายต่อการนำไปใช้งาน


คาดปีหน้าตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของไทย ขยายตัวเร็วสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน – อันดับ 4 ของโลก

ดร.การดี เลียวไพโรจน์

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC)กล่าวว่า เทรนด์ในอนาคตของหุ่นยนต์ พบว่าจะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้เติบโตมากขิ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม จะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้น 31% หรือ 48 ล้านตัว ภายในปีพ.ศ. 2564 โดยกลุ่มหุ่นยนต์ที่โตที่สุด คือ กลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย (Service Robot) ซึ่งประเทศไทยมีนักวิจัยและคิดค้นหุ่นยนต์ประเภทนี้ที่ได้รับการยอมรับในตลาดอาเซียนมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ. 2564 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ซึ่งจะมีการขยายตัวเร็วที่สุดสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล 33% อินเดีย 26% และจีน 22% เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มที่จะเปิดใจรับการร่วมทำงาน ร่วมใช้ชีวิตกับหุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง COVID-19 ที่หุ่นยนต์ทางการแพทย์ มีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ป้องกันการติดเชื้อ และส่งต่อเชื้อแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ คนใกล้ชิดและทำหน้าที่ส่งอาหาร ส่งยาเวชภัณฑ์แก่ผู้ที่ถูกกักตัวและผู้ติดเชื้อในบริเวณที่กักกันเชื้อของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการกักเชื้อให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม

“อย่ากลัวว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานหากเรามีความพร้อม มีการทำงานที่มีความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายแต่ละหน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว แต่อยากให้มองว่าหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วย เป็นส่วนเติมเต็มในหลายๆสิ่งที่คนเราทำงานไม่ได้ เสี่ยงภัยและก่อให้เกิดอันตรายต่อส่วนรวมในวงกว้าง ในอนาคตคาดว่าแต่ละบ้านจะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานอย่างน้อย 1 ตัว ภายใน 5 ปีจากนี้” ดร.การดี กล่าว


หุ่นยนต์ช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สุนทร เด่นธรรม

สุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ่นยนต์มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการทำงานทุกส่วน อยากให้มองว่าหุ่นยนต์เข้ามาเสริมการทำงานให้มนุษย์มีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าที่จะมองว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานที่มนุษย์ทำอยู่ หากมนุษย์ได้เสริมองค์ความรู้ในการทำงานอยู่แล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงาน เนื่องจากมนุษย์จะเป็นผู้เขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์อยู่เบื้องหลังอีกที

อีกทั้ง หุ่นยนต์ก็ยังมีข้อจำกัดการทำงานในหลายๆส่วน ซึ่งไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ เช่น การประชุมการค้าที่เป็นความลับ การเจรจาการลงทุน เป็นต้น และในงานหลายๆส่วน มนุษย์ก็ทำงานเสี่ยงเหมือนหุ่นยนต์ไม่ได้เช่นกัน เช่น การทำงานในโรงไฟฟ้า โรงหล่อที่อุณหภูมิเสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย การดูแลผู้ป่วยติด COVID-19 เป็นต้น

“ฉะนั้นอยากให้เปิดใจรับการเข้ามาของหุ่นยนต์แลกเปลี่ยนการนำหุ่นยนต์มาใช้ระหว่างธุรกิจ มองข้อดีแล้วนำข้อเสียไปแก้ไขปรับปรุง ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ไร้รอยต่อตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ได้ดีมาก และเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่หุ่นยนต์สัญชาติไทยจะได้สร้างชื่อเสียง เป็นอุตสาหกรรมส่งออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนและในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต เนื่องจากหุ่นยนต์ฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”สุนทร กล่าว


นำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอสังหาริมทรัพย์

กิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์

กิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การวางระบบโดยนำหุ่นยนต์มาใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ายิ่งได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมกับบริษัท โอโบดรอยด์ ในการสร้างหุ่นยนต์ใช้ในโครงการของบริษัทฯ แต่ละโครงการ โดยมองถึงความปลอดภัย คุณภาพของการบริการเป็นสำคัญ เพราะลูกบ้านของบริษัทฯในแต่ละโครงการมีจำนวนมาก ต้องการความเป็นส่วนตัว ซึ่งหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นและนำไปใช้จะมีโปรแกรมเฉพาะตัวเฉพาะบ้าน เพื่อให้แต่ละบ้านออกแบบการใช้หุ่นยนต์เฉพาะบริเวณบ้าน เช่น บริเวณห้องนั่งเล่น, บริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านและบริเวณห้องนอน เป็นต้น โดยจะมีการอัพเดตโปรแกรมการทำงานให้ลูกบ้านแต่ละหลังตามการบริการอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เบื้องต้นที่นำมาใช้ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกบ้าน โดยเฉพาะหุ่นยนต์ไข่ต้มที่เด็กๆและผู้สูงอายุจะชอบมากเพราะจะได้มีเพื่อนพูดคุยเวลาอยู่บ้านลำพัง ที่สำคัญลดการว่าจ้างลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานเป็นแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานทำสวนภายในโครงการต่างๆ เป็นต้น ส่วนในอนาคตในการร่วมกันผลิตหุ่นยนต์จะมีความหลากหลาย ทั้งขนาดเล็กที่มีอยู่และขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสมในการนำไปใช้ในในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นๆเพิ่มเติม