Technology

นักวิจัย AIT จับมือ สวทช. และเอกชน พัฒนา “ชุดควบคุมรถโฟร์คลิฟท์อัตโนมัติ” ฝีมือคนไทย อัพเกรดรถยกเก่าเป็น ‘ไร้คนขับ’ ลดค่าใช้จ่ายเหลือแค่หลักแสน

นักวิจัยเมคคาโทรนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) พัฒนาชุดประมวลผลสัญญาณเซ็นเซอร์และควบคุมรถขนส่งอัตโนมัติไร้คนขับ ฝีมือคนไทย 100% ที่สามารถติดตั้งกับรถโฟร์คลิฟท์แบบเก่าได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ให้เป็นโฟร์คลิฟท์อัตโนมัติไร้คนขับ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ลดต้นทุนช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น คาดใช้เวลา 1 ปี พัฒนาชุดประมวลผลฯ และพร้อมจำหน่ายในปีพ.ศ. 2565

โครงการพัฒนาชุดประมวลผลสัญญานเซ็นเซอร์และควบคุมรถขนส่งอัตโนมัติไร้คนขับ หรือ Sensor Signal Processing and Control Unit for Laser Guided Vehicle เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการสร้าง “รถโฟร์คลิฟท์ไร้คนขับ” ฝีมือนักวิจัยไทย ซึ่งสร้างเสร็จและเริ่มจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 ทำให้ประเทศไทยมีรถโฟร์คลิฟท์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ ราคาถูกกว่านำเข้าถึงเท่าตัว แต่อยู่ในราคาหลักล้านบาท ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยจึงต่อยอดสู่เฟส 2 สร้างและพัฒนาชุดประมวลผลฯ เป็นกล่องที่สามารถนำไปติดตั้งควบคุมรถโฟร์คลิฟท์รุ่นเก่าที่มีอยู่แล้วในโรงงานทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ให้กลายเป็นรถโฟร์คลิฟท์อัตโนมัติไร้คนขับ โดยไม่ต้องซื้อคันใหม่ ลดค่าใช้จ่ายจากหลักล้าน เหลือเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ และส่งเสริมระบบภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.มนูกิจ พานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเมคคาโทรนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบัน AIT กล่าวว่า แต่เดิมรถโฟร์คลิฟท์ไร้คนขับที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงกว่า 2.5 ล้านบาท แต่รถโฟร์คลิฟท์ไร้คนขับที่สถาบัน AIT พัฒนาขึ้นมีราคาถูกลง เหลือ 1.5 ล้านบาท แต่ด้วยราคาที่ยังสูงอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการยังเข้าถึงยาก จึงนำไปสู่การพัฒนาชุดประมวลผลฯ ที่จะเป็นกล่องนำไปติดตั้งกับรถโฟร์คลิฟท์เก่า แทนการซื้อรถใหม่ทั้งคัน ทำให้เหลือต้นทุนต่อคันเพียงหลักแสนบาท คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถมีรถโฟร์คลิฟท์ไร้คนขับใช้งานได้มากขึ้น โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัทแพลนเนท ที แอนด์ เอส จำกัด

“จุดเด่นของรถโฟร์คลิฟท์ไร้คนขับ คือ สามารถเคลื่อนที่ไปทั่วโรงงานได้อย่างอิสระ ลดต้นทุนที่จะต้องดัดแปลงโรงงาน หรืออาคาร ต่างจากการใช้รถโฟร์คลิฟท์รุ่นเก่าที่ต้องปรับโรงงานติดตั้งแทรคควบคุมรถ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ต้องขับควบคุมอยู่บนรถ เพิ่มทักษะใหม่เป็นการควบคุมและมอนิเตอร์รถโฟร์คลิฟท์ สามารถควบคุมได้ครั้งละหลายๆคัน ” ศ.ดร.มนูกิจ กล่าว