Sunday, April 28, 2024
Latest:
Construction

ทช.วางแผนดำเนินโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ – ศาลายา เแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนนกาญจนาภิเษก – บรมราชชนนี

กรมทางหลวงชนบท วางแผนดำเนินโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนนกาญจนาภิเษก-บรมราชชนนี รองรับการเติบโตในพื้นที่ จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดนครปฐม

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม โดยสำนักก่อสร้างสะพาน เปิดเผยว่า ถนนนครอินทร์เป็นหนึ่งในโครงการถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์ – เพชรเกษม – รัตนาธิเบศร์ (แนวตะวันออก – ตะวันตก) เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2545 ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเติมโครงข่ายให้สมบูรณ์ เสริมประสิทธิภาพเส้นทางคมนาคม พร้อมแก้ไขการจราจรติดขัดบนถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี รองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและนครปฐม ตลอดจนเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทช. จึงได้มีแผนจะดำเนินโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ – ศาลายา จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโครงการตัดถนนแนวใหม่ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงชนบทสาย นฐ.5035 แนวเส้นทางวางตัวไปทางทิศตะวันออก ผ่านคลองตาพริ้ง ผ่านจุดตัดทางหลวงชนบทสาย นฐ.3004 ที่ประมาณ กม. ที่ 3+500 ข้ามคลองนราภิรมย์ ตัดผ่านทางหลวงชนบทสาย นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าวตัดทางหลวงชนบทสาย นบ.1001 ข้ามคลองจีนบ่าย ข้ามคลองขุนเจน โดยแนวเส้นทางจะอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่ และแนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองลาดละมุด ผ่านทางหลวงชนบทสาย นบ.5035 ใกล้กับทางแยกเข้าวัดบางม่วง จากนั้นแนวจะเบี่ยงไปทางขวาวางแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองโสนน้อยตัดผ่านทางหลวงชนบทสาย นบ.1001 บริเวณซอยอินทนิล จากนั้นแนวจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่โล่งด้านหลังหมู่บ้านศุภาลัยการ์เด้นวิลล์ ข้ามคลองบางนาและคลองประปา ก่อนเบี่ยงขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านมัณฑนากับอาคารโครงการบ้านเอื้ออาทรบางกรวย (วัดพระเงิน) โดยแนวเส้นทางจะอยู่ด้านทิศใต้ของวัดสุนทรธรรมิการาม ข้ามคลองหัวคู และเข้าบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกโดยเชื่อมทางแยกต่างระดับบางคูเวียง รวมระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร โดยแนวโครงการตัดพาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 ตำบล และ 28 หมู่บ้าน/ชุมชน

ปัจจุบันได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีระยะเวลา 5 ปี โดย ทช. จะเข้าดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและจะของบประมาณในการจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามแนวเส้นทางต่อไป คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้พื้นที่เวนคืนประมาณ 350 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง 87 หลัง