Saturday, April 27, 2024
Latest:
News

บางกอกเคเบิ้ล เปิดแผนกลยุทธ์ปี 2567 ทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาทสยายปีกรุกตลาดสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล รองรับการเติบโตแห่งอนาคต

กรุงเทพฯ – 20 มีนาคม 2567 – บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) ผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลชั้นนำในภูมิภาค เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เผยแผนกลยุทธ์ปี 2567 ซึ่งมุ่งเน้นการขยายตลาดทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานและเทรนด์ของพลังงานหมุนเวียน โดยเพิ่มงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตสายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูงพิเศษเป็น 2 เท่าและเพิ่มยอดจำหน่ายสายโซลาร์เซลล์หรือสายเคเบิ้ล PV (Photovoltaic Cable) เป็น 3 เท่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 30%และขยายส่วนแบ่งตลาดเป็น 35% ตอกย้ำความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐานระดับโลก ที่รองรับทุกการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) เปิดเผยว่า “เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในปีนี้ BCC จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานที่ท้าทายการเติบโตของธุรกิจยิ่งกว่าที่ผ่านมา โดยวางงบลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตในกลุ่มสายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูงพิเศษเป็น 2 เท่า และเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเภทสายโซลาร์เซลล์เป็น 3 เท่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 30% และส่วนแบ่งการตลาด 35%”

ทั้งนี้ ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตเป็น 3 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้านับจากปี 2563 รวมถึงเทรนด์ ESG และ Net Zero เป็นการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3.5% และเพิ่มขึ้น 3.3% ในอีก 3 ปีข้างหน้า สอดรับกับนโยบายภาครัฐ เช่น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ แผนการใช้ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมรถยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท โดย BCC ครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 25% สัดส่วนรายได้หลักของธุรกิจส่วนใหญ่มาจากการขายภายในประเทศ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอาคาร 31% กลุ่มอุตสาหกรรม 26% กลุ่มไฟฟ้าและพลังงาน 23% และอื่น ๆ 19%
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา BCC มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 12,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% (Double-digit growth)เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้ 11,400 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 60 ปี

สำหรับการขยายตลาดในต่างประเทศ ตลาดหลักของ BCC อยู่ในแถบภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยเจาะกลุ่มธุรกิจรีเทล ตลาดค้าส่ง และโครงการภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา BCC มียอดขายในเมียนมากว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในเมียนมาและสปป.ลาว นอกจากนี้ มีการส่งออกไปยังสิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เม็กซิโก และออสเตรเลีย

ด้วยการวิจัยและพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ BCC เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ที่ตอบโจทย์การใช้งานในตลาดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ชนิดแรงดันต่ำ แรงดันปานกลาง แรงดันสูง และแรงดันสูงพิเศษ รองรับความต้องการของทั้ง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างลงตัว ได้แก่ กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอาคาร (Construction & Building) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ (Automotive) กลุ่มจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (Distribution) กลุ่มการส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission) และกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

ปัจจุบัน BCC ถือเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกการใช้งาน โดดเด่นด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสูง ในราคาที่แข่งขันได้ การส่งมอบที่รวดเร็ว โดยเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่อยู่ในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กขององค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact Network Thailand: UNGCT) เครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“BCC มุ่งมั่นแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จากการขยายฐานลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ท่าอากาศยาน และท่าเรือ ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผสานความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เพื่อส่งมอบสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลมาตรฐานระดับสูง รองรับการเติบโตของตลาดไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น” คุณพงศภัค กล่าวสรุป