Property

ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่  15 สิงหาคม  พ.ศ.2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ฯ) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

      สาระสำคัญ

 ร่างกฎกระทรวงที่ มท. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยมีมาตรฐานและอำนวยความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการอาคารได้มากขึ้น เช่น การกำหนดให้อาคารบางประเภท เช่น  (1) อาคารสาธารณะเว้นแต่โรงมหรสพและสถานบริการ อาคารชุมนุมคน ภัตตาคาร สำนักงาน สถานที่ทำการของราชการ โรงงาน และอาคารพาณิชย์ (2) อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีตั้งแต่ 4 หน่วยขึ้นไป อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก (3) คลังสินค้า (4) อาคารอื่นที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องจัดให้มีการติดตั้งแผนผังของอาคารแต่ละชั้นไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน เช่น บริเวณห้องโถงหรือหน้าลิฟต์ทุกแห่งของทุกชั้น และแผนผังดังกล่าวต้องประกอบด้วยสัญลักษณ์อักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ชัดเจน

การกำหนดให้อาคารบางประเภทฯ ที่มีห้องเก็บสิ่งของหรือวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงต้องมีการกั้นแยกพื้นที่ดังกล่าวของอาคาร อีกทั้งมีการแก้ไขบทบัญญัติบางประการเพื่อลดภาระของประชาชน เช่น การกำหนดให้ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ และเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบ และจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วม โดยแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของอาคารแต่ละประเภทในสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น การกำหนดให้อาคารที่มีบุคคลเข้าอยู่หรือใช้สอย ต้องจัดให้มีห้องน้ำที่มีสุขภัณฑ์ที่เพียงพอต่อการใช้สอยปกติ โดยไม่ทำให้ผู้จะใช้รอใช้นานเกินสมควร การกำหนดให้ตำแหน่งของห้องน้ำต้องจัดอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้สะดวก โดยทางเดินสู่ห้องน้ำต้องไม่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ห้องครัวและไม่มีสิ่งกีดขวางหรือกิจกรรมอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และกำหนดระยะทางเดินจากจุดใด ๆ ในอาคารไปถึงห้องน้ำในอาคารแต่ละประเภท (เช่น ห้างสรรพสินค้าไม่เกิน 90 เมตร เป็นต้น)

การกำหนดให้การติดตั้งโถส้วมในห้องน้ำที่มีโถส้วมมากกว่าหนึ่งที่ โดยแต่ละโถต้องมีผนัง ฝา หรือแผงกั้น และประตูเพื่อความเป็นส่วนตัว การกำหนดลักษณะของห้องน้ำ ห้องส้วม สุขภัณฑ์ และที่อาบน้ำ (เช่น ห้องส้วม ที่อาบน้ำ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 0.80 เมตร โถส้วม ที่ปัสสาวะ ต้องมีระบบดักกลิ่น เป็นต้น) เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่า และมีจำนวนห้องน้ำห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบด้วยในหลักการ