Construction

ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. ….

                การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ..2565  ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า 

                   1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร และกระจกที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากโครงสร้างหลักของอาคารส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่มีอัตราการทนไฟได้ไม่นาน เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารดังกล่าวจะเกิดการยุบตัวหรือพังทลายได้ง่าย ทำให้ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือหรือขนย้ายประชาชนหรือทรัพย์สินออกจากอาคารดังกล่าวได้ทัน อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก 

                   2. เนื่องจากปัจจุบันวิทยาการเกี่ยวกับวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น กฎกระทรวงฯ ตามข้อ 1. ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาและรายละเอียดที่สำคัญ ซึ่งหากไม่มีการควบคุมในเรื่องดังกล่าวอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนได้ ดังนั้น เห็นควรออกกฎกระทรวงฯ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมาตรา 8 (2) (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. …. ขึ้น โดยแยกเรื่องการกำหนดลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน เป็นการเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 

                   กำหนดลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้

                   1.กำหนดให้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารต้องคำนึงถึงความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การสาธารณสุข และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้เกิดฝุ่นละอองอันอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) ในปริมาณที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารอินทรีย์ประเภทฟอร์มาลดีไฮด์

                   2.กำหนดให้การใช้วัสดุตกแต่งผิวพื้น หรือวัสดุปูพื้น ที่ไม่มีการใช้วัสดุตกแต่งผิวเพิ่มเติม ประเภทที่ใช้กันอย่างดั้งเดิม ได้แก่ ไม้ ลิโนเลียม หินขัด คอนกรีต กระเบื้องเซรามิค กระเบื้องดินเผา หินธรรมชาติ หินเทียม แผ่นพื้นไฟเบอร์ซีเมนต์ พื้นโลหะ และแผ่นชิ้นไม้อัดซีเมนต์ที่มีความหนาแน่นสูง วัสดุปูพื้นที่ยืดหยุ่น และไม่มีส่วนประกอบของเส้นใย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้  

                   3.กำหนดให้การใช้วัสดุตกแต่งผิวพื้นภายใน ให้คำนึงถึงคุณสมบัติของวัสดุเกี่ยวกับการลุกติดไฟอย่างรวดเร็ว และการเกิดควัน สำหรับวัสดุตกแต่งผิวผนังภายนอกหรือวัสดุที่ใช้เป็นผนังภายนอกอาคารต้องยึดเกาะกับตัวอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารด้วยวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดการร่วงหล่น และในการใช้วัสดุเป็นผนังภายนอกอาคารให้คำนึงถึงคุณสมบัติของวัสดุในการต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ ลม น้ำ และความชื้น หากผนังภายนอกผลิตจากวัสดุประเภทโลหะ ให้คำนึงถึงคุณสมบัติในการต้านทานต่อการกัดกร่อนด้วย ผนังภายนอกที่เป็นระบบผนังสำเร็จรูปต้องสามารถต้านทานแรงหรือน้ำหนักบรรทุกที่กระทำได้อย่างปลอดภัย หากผนังภายนอกของอาคารสูงต้องได้รับการออกแบบให้สามารถต้านแรงลมได้ 

                   4.กำหนดให้วัสดุที่เป็นผิวของผนังภายนอกอาคารหรือวัสดุตกแต่งผิวภายนอกอาคารต้องมีปริมาณการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละสามสิบ (กำหนดเช่นเดียวกันกับกฎกระทรวงฉบับที่ 48 ฯ)

                   5.กำหนดให้หลังคาและส่วนประกอบของวัสดุหลังคาต้องได้รับการออกแบบและติดตั้งให้สามารถต้านทานแรงหรือน้ำหนักบรรทุกที่กระทำได้อย่างปลอดภัย ต้องยึดติดกับโครงสร้างหลังคาอย่างมั่นคง  

                   6.กำหนดให้กระจกที่ใช้เป็นผนังภายนอก ประตู หน้าต่าง และช่องเปิดของผนังภายนอกของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ชั้นที่ 2 ขึ้นไป ต้องเป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น (ร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดนิยาม “กระจกนิรภัยหลายชั้น” เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น (อ้างอิงตามประมวลข้อบังคับอาคาร (Building Code) ของประเทศสหรัฐอเมริกา) หากกระจกที่ใช้เป็นผนังภายใน ประตู หน้าต่าง และช่องเปิดของผนังภายในของห้องโถงหรือทางเดินร่วมภายในอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (ร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดนิยาม “กระจกนิรภัยเทมเปอร์” เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น อ้างอิงตามประมวลข้อบังคับอาคาร (Building Code) ของประเทศสหรัฐอเมริกา) ในกรณีที่ใช้กระจกเป็นวัสดุพื้นทางเดิน หรือพื้นบันได ต้องเป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น โดยกระจกแต่ละชั้นต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ตามที่กำหนด กระจกที่ใช้เป็นผนังภายนอกอาคาร หรือใช้ตกแต่งผนังภายนอกอาคาร ต้องเป็นกระจกที่มีปริมาณการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละสามสิบ  

                   7.กำหนดประเภทของแผ่นยิปซัมที่ใช้ในอาคาร ให้คำนึงถึงสภาพหรือวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แผ่นยิปซัมที่ใช้ต้องเป็นประเภททนไฟ ทนความชื้นหรือสามารถต้านทานความชื้นได้