News

สวทช. จับมือ ขร.และ สทร. ผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ทดแทน พัฒนาอุตสาหกรรมราง ตามหลักการ “Thai First ”

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือกับ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ในการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมด้านมาตรฐานและการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย ลดการนำเข้า สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากล ช่วยให้อุตสาหกรรมระบบรางในประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตามเป้าหมาย Thai Frist ของรัฐบาล

.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบรางเป็นหนึ่งในระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ที่สำคัญยิ่งและรัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาโครงการต่างๆเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและยกระดับการเดินทางด้วยการคมนาคมที่ทันสมัยทัดเทียมประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้หลากหลายโครงการด้วยงบประมาณจำนวนมากทั้งในกรุงเทพมหานครและในจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น โคราช เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาระบบรถไฟรางทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในระยะทางไกลที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงระบบรางรถไฟทางไกลสมัยใหม่นำมาใช้ในโครงการต่างๆของภาครัฐ เช่น รถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมกับ สปป. ลาว และมีแผนพัฒนาอีกหลายเส้นทางตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้วางเป้าหมายและดำเนินการให้ระบบรางเป็นโครงข่ายคมนาคมหลักของประเทศ และเป็นผู้นำด้านระบบรางในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบราง และยกระดับความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตประชาชนด้านการขนส่งและการเดินทาง จำเป็นต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ระบบรางของไทยได้มาตรฐานในประเทศไทยและตามที่สากลกำหนด เมื่อผลิตใช้เองในประเทศไทยและส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศจะได้รับการยอมรับสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากล ช่วยให้อุตสาหกรรมระบบรางในประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตามเป้าหมาย Thai Frist ของรัฐบาล

สวทช. จึงได้ให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC ซึ่งมีความพร้อมด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ในระบบขนส่งทางรางในระดับสากล และได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC17025 เรียบร้อยแล้ว เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบชิ้นส่วนรถไฟประเภทไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาณัติสัญญาณของระบบรถไฟ ระบบสื่อสาร และด้านประสิทธิภาพการใช้งานต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปัจจุบันที่ต้องการปรับรูปแบบจากผลิตภัณฑ์แบบเดิมไปสู่การผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ทดแทนในระบบขนส่งทางรางที่จะมีความต้องการมากขึ้น นอกจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ของระบบรางในห้องปฏิบัติการทดสอบแล้ว PTEC ยังมีประสบการณ์ในการทดสอบการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility : EMC) สำหรับรถไฟมาแล้วมากกว่า 20 ปี โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่การสำรวจการรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้าของระบบควบคุมและโทรคมนาคมตลอดเส้นแนวราง ที่พาดผ่านสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล เสาโทรคมนาคม เสาวิทยุโทรทัศน์ ธนาคาร ระบบสัญญาณไฟจราจรบนถนน ซึ่งสถานที่ต่าง ๆ นี้ มีความเสี่ยงในการรบกวนสัญญาณควบคุมของระบบรถไฟด้วย

ที่ผ่านมา PTEC ได้ดำเนินการทดสอบสำหรับรถไฟหลายเส้นทางแล้ว เช่น สายสีม่วง สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีแดง สายสีทอง รวมถึงรถไฟฟ้า BTS และเพื่อให้ครอบคลุมการทดสอบระบบรางนอกห้องปฏิบัติการมากยิ่งขึ้นตามข้อกำหนดด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ (EHIA) ตามแนวทางสากล ในปี พ.ศ. 2566 สวทช. จึงให้ PTEC ทำการขยายขอบข่ายการทดสอบจากด้าน EMCโดยเพิ่มการทดสอบด้านการทดสอบเสียง (Sound Acoustic) เมื่อขบวนรถไฟวิ่งผ่านพื้นที่ชุมชน เพื่อกำหนดจุดวาง กำแพงกั้นเสียง ลดเสียงดังและการทดสอบแรงสั่นสะเทือนบนขบวนรถไฟขณะเคลื่อนที่ (Rolling Stock Vibration) เพื่อให้ผู้โดยสารมีความสะดวกและปลอดภัยตลอดการเดินทาง

“สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทาง สวทช. กรมการขนส่งทางราง และ สทร. รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันนำองค์ความรู้ ความสามารถในการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี บุคลากรของที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานการทดสอบระบบรางในประเทศและต่างประเทศมาร่วมทำการศึกษา ทดสอบผลิตภัณฑ์ระบบรางที่ผลิตเองในประเทศไทย เพื่อช่วยลดการนำเข้า สร้างผลิตภัณฑ์ฝีมือคนไทยมาใช้ในระบบโครงการก่อสร้างพื้นฐานระบบรางต่างๆที่เหมาะสม รวมทั้งจะส่งเสริมและสร้างบุคลากรเข้ามาทำงานในระบบรางของประเทศไทยให้มากขึ้นต่อไป ในอนาคตหวังว่าการร่วมกันครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นฐานการคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต” ศ.ดร.ชูกิจ กล่าว

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะรับรองและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางขึ้นในประเทศไทย โดยใช้หลักการ “Thai First : ไทยทำ ไทยใช้” ของกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเลือกที่จะใช้แรงงานขั้นสูงและคนไทยเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางโดยคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและลดการจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งศูนย์ทดสอบ PTEC ของ สวทช. ซึ่งดำเนินการทดสอบผลิตภัณฑ์ระบบรางนี้ มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถชำนาญในการใช้เทคโนโลยีทั้งซ่อมและสร้าง พัฒนาผลิตภัณฑ์ระบบรางที่เหมาะสมสำหรับใช้ในประเทศไทย มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบจากศูนย์ฯแห่งนี้จะได้มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานความรู้นำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในประเทศและส่งจำหน่ายต่างประเทศทัดเทียมนานาชาติ สร้างงาน สร้างโอกาสการผลิตชิ้นส่วนระบบรางของผู้ประกอบการชาวไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก

ส่วนการพัฒนาบุคลากรรองรับการทำงานระบบรางนั้น จะต้องเร่งสร้างตั้งแต่ระดับวิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุคลากรด้านระบบรางของไทยมีความพร้อมเข้ามาทำงานพัฒนาประเทศด้านระบบรางในอนาคต

ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือสทร. กล่าวว่าสทร. ยึดเป้าหมายของประเทศในการขนส่งทางรางจาก 15 % เป็น 40% ในอนาคต ซึ่ง สทร. ไม่สามารถดำเนินการได้โดยองค์กรเดียว หากขาดหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อดำเนินการร่วมกัน เช่น เทคโนโลยีในการซ่อมบำรุง การส่งเสริมการวิจัยเพื่อผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และระบบทดสอบและรับรองมาตรฐานในประเทศก่อนที่จะนำไปทดสอบต่อยังมาตรฐานต่างประเทศที่รับรองต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการผลิตเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งทาง PTEC มีความเชี่ยวชาญในการทดสอบมาตรฐานที่ได้ตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ความร่วมมือในการดำเนินงานขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนานวัตกรรมด้านมาตรฐานและการทดสอบ สำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบรางของทั้งสามหน่วยงาน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการผลิตระบบรางของไทย