Thursday, April 25, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติอนุมัติขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม และพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อทำเหมืองแร่ของบริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด ที่ จ .ชัยนาท

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2566 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการขอผ่อนผันให้บริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม และพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C)* เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอประทานบัตรที่ 3/2561 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2535 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

หมายเหตุ : *พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็มหมายถึง พื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ที่มีศักยภาพแหล่งแร่ที่รัฐมีข้อผูกพันเป็นประทานบัตรแล้วรวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA)

พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เพื่อรักษาไว้ให้เป็นไปตามธรรมชาติสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์อย่างแท้จริงหากภายหลังสำรวจพบว่ามีป่าธรรมชาติในพื้นที่ถูกบุกรุกทำลาย ให้ปลูกป่าทดแทนโดยเร็วจึงไม่ให้ใช้ประโยชน์และไม่มีการกำหนดมาตรการให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์

สาระสำคัญของเรื่อง

1.กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันให้บริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม และพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2533 วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2535 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 (การต่ออายุการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่เดิมหากอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ในเขตพื้นที่ต้นน้ำชั้นที่ 1 และในเขตพื้นที่หวงห้ามอื่น ๆ ให้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นราย ๆ ไป) โดยคำขอประทานบัตรที่ขอผ่อนผันในครั้งนี้เป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมซึ่งประทานบัตรหมดอายุเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564 อยู่ที่ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 292 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา โดย อก. แจ้งว่า รังสรรค์ ตันตระกูล ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรเดิมมีหุ้นส่วนในบริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด และในการเปลี่ยนผู้ถือประทานบัตรทำได้ โดยผู้ถือประทานบัตรเดิมให้ความยินยอมก่อนที่จะอนุญาตประทานบัตรใหม่

2.พื้นที่ที่ อก. ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์ในครั้งนี้มีลักษณะ ดังนี้

ลักษณะพื้นที่

1) การขออนุญาตใช้พื้นที่ ได้มีการยื่นขออนุญาตทำประโยชน์บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติแล้ว

2) อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 (แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 กำหนดให้พื้นที่เขตแหล่งแร่ คือพื้นที่เขตแหล่งแร่ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ทั้งหมด)

3) ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ

4) ไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านที่เกี่ยวข้องกับคำขอประทานบัตร (สภาเทศบาลตำบลวังตะเคียนได้เห็นชอบการขอประทานบัตรด้วยแล้ว)

5) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA)

6) เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559ที่กำหนดให้การผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 สำหรับการทำเหมืองแร่และเพื่อการต่อยอดอายุประทานบัตรทำเหมืองแร่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

6.1) จะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่เดิมที่มีการทำเหมืองมาก่อน ซึ่งคำขอประทานบัตรนี้เป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งหมด

6.2) จะต้องเป็นโครงการที่มีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ อก. แจ้งว่า หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นวัตถุดิบสำคัญเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้มีความต้องการใช้หินปูนเพื่อการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น

6.3) จะต้องเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าและความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น อก. แจ้งว่า โครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งมีมูลค่าโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 276.31 ล้านบาท

6.4) จะต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อก. ขอดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 (การขอทำเหมืองหรือต่ออายุใบอนุญาตทำเหมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายไป) และขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2535 (ให้งดการต่อใบอนุญาตทำเหมืองในพื้นที่ป่าอนุรักษ์)