Monday, April 29, 2024
Latest:
Construction

ทล. ออกแบบทางเลี่ยงเมือง อ.สว่างแดนดิน (ด้านเหนือ) เชื่อมโยงโครงข่าย ทล.22 – ทล.2091 – ทล.2280 – สปป.ลาว ส่งเสริมเศรษฐกิจหนุน AEC

กรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม รับมอบนโยบายแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อลดปัญหาความคับคั่งของการจราจรช่วงผ่านตัวเมืองสกลนคร รวมถึงเป็นการยกระดับความปลอดภัยทางถนนของระบบคมนาคมขนส่ง ของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 22 สายอุดรธานี – สกลนคร – นครพนม เป็นโครงข่ายหนึ่งที่สำคัญที่เชื่อมโยงประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)โดยมี การส่งเสริมการพัฒนาด้านการขนส่ง ด้านเศรษฐกิจ และการค้าชายแดน เชื่อมต่อไปยังแขวงคำม่วน สปป.ลาว จึงส่งผลให้ทางหลวงสายนี้มีปริมาณการจราจรเพิ่มสูงขึ้น โดยเร่งดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมือง อำเภอสว่างแดนดิน (ด้านเหนือ) จังหวัดสกลนคร เพื่อบรรเทาความแออัดของการจราจรจากรถบรรทุกที่ผ่านเข้าอำเภอสว่างแดนดิน อีกทั้งยังโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 22 – ทางหลวงหมายเลข 2091 – ทางหลวงหมายเลข 2280 อำเภอสว่างแดนดิน ไปยังจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ และสกลนคร ได้สะดวกยิ่งขึ้น

สำหรับผลการวิเคราะห์ด้านจราจร สำหรับโครงการทางเลี่ยงเมือง อำเภอสว่างแดนดิน (ด้านเหนือ) ในปี พ.ศ. 2564 อยู่ในช่วง 5,000 – 9,000 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 9,000 – 15,000 คันต่อวัน ในปี พ.ศ. 2574 และเป็น 14,000 – 21,000 คันต่อวัน ในปี พ.ศ. 2584 ประกอบกับแนวเส้นทางสายนี้ในบางช่วง ยังคงวิ่งผ่านเข้าตัวเมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งแนวเส้นทางในพื้นที่อำเภอสว่างแดนดิน มีเขตทางแคบเป็นข้อจำกัดในการขยายช่องจราจร ดังนั้นการพิจารณาก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองจึงเป็นแนวทางหนึ่ง ที่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุดังกล่าวรวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และยกระดับความปลอดภัยในการสัญจร

จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ประมาณ กม. ที่ 74+183 บนทางหลวงหมายเลข 22 พื้นที่ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จากทิศทางมุ่งทิศเหนือและทิศตะวันออก ตัดทางหลวงหมายเลข 2091 และทางหลวงหมายเลข 2280 และจากทิศทางมุ่งทิศใต้มาบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 22 กม. ที่ 82+905 พื้นที่ตำบลทรายมูล อำเภอสว่างแดนดิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสว่างแดนดิน โพนสูง บ้านถ่อน และทรายมูลอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร โดยรูปแบบโครงการเป็นถนนคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก 2.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางชนิดกดร่อง (Depressed Median) กว้าง 9.10 เมตร งบประมาณในการก่อสร้างโครงการ 1,520,000,000 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายแผนและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบภายในปี พ.ศ. 2565 โดยจะสามารถเริ่มดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนได้ ในปี พ.ศ. 2566 และก่อสร้างประมาณปี พ.ศ. 2567 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2570 โดยรูปแบบทางแยกจุดตัดต้องมีการจัดการจราจรที่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรม ตลอดจนสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณจารจรในอนาคต จึงได้ออกแบบไว้จำนวน 8 จุด ดังนี้

1. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 22 ที่ กม. 0+000 (จุดเริ่มต้นโครงการ) (กม. ที่ 74+069.468 บนทางหลวงหมายเลข 22) ออกแบบเป็นทางต่างระดับบนทางหลวงหมายเลข 22 โดยก่อสร้างเป็นสะพานข้าม
ลำน้ำห้วยยางและข้ามแยกต่างระดับ เพื่อจัดการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 22 และบนทางเลี่ยงเมืองสว่างแดนดิน สามารถสัญจรได้สะดวก ซึ่งไม่ติดสัญญาณไฟจราจร โดยออกแบบเป็นสะพานขนาด 169.50 เมตร

2. จุดตัดทางเลี่ยงเมืองกับทางหลวงหมายเลข 22 ที่ กม. 0+216.000 แยกทางหลวงหมายเลข 22 (เดิม) ออกแบบเป็นสะพานบก ข้ามทางหลวงหมายเลข 22 (เดิม) ขนาด 19.75 เมตร (เป็นสะพานคู่) และมีทางเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 22 (เดิม) กับทางเลี่ยงเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทาง

3. จุดตัดทางแยกทางหลวงชนบท สน.3180 ที่ กม. 2+487.000 ทางสายนี้ใช้เชื่อมต่อระหว่างชุมชนบ้านง่อนใหม่ และชุมชนบ้านโพนสูง เพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านการแบ่งแยกชุมชน จึงออกแบบเป็นสะพานบกข้ามทางหลวงชนบท สน.3180 ขนาด 39.50 เมตร การจราจรด้านล่างออกแบบเป็นทางคู่ขนาน เชื่อมต่อระหว่างถนนท้องถิ่น กับทางหลวงชนบท สน.3180 และใช้ระบบวงเวียนในการจัดการจราจรร่วมด้วย ในบริเวณทางแยกนี้

4. จุดตัดทางท้องถิ่น (อบต.) ที่ กม. 2+688.000 ทางเส้นนี้เป็นถนนภายในชุมชนระหว่างชุมชนบ้านดอนธงชัย และชุมชนบ้านโพนสูง เพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านการแบ่งแยกชุมชน จึงออกแบบเป็นสะพานบกข้ามทางท้องถิ่น ขนาด 19.75 เมตร และออกแบบเป็นทางคู่ขนานเชื่อมต่อระหว่างถนนท้องถิ่นกับทางหลวงชนบท สน.3180 และใช้ระบบวงเวียนในการจัดการจราจรร่วมด้วย

5. จุดตัดแยกทางหลวงหมายเลข 2091 ที่ กม. 4+978.795 โดยผลการวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณจราจรบนทางแยก จึงออกแบบเป็นสะพานบกข้ามทางหลวงหมายเลข 2091 ขนาด 39.50 เมตร การจราจรด้านล่างออกแบบเป็นทางคู่ขนานเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 2091 กับทางเลี่ยงเมือง และใช้ระบบวงเวียนในการจัดการจราจรร่วมด้วย

6. จุดตัดแยกทางหลวงหมายเลข 2280 ที่ กม. 6+137.988 โดยผลการคาดการณ์ปริมาณจราจรบนทางแยก จึงออกแบบเป็นสะพานบกข้ามทางหลวงหมายเลข 2280 ขนาด 160.00 เมตร การจราจรด้านล่างออกแบบเป็นทางคู่ขนาน เชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 2280 กับทางเลี่ยงเมือง และใช้ระบบวงเวียน ในการจัดการจราจรร่วมด้วย

7. จุดตัดแยกทางหลวงชนบท สน.3082 ที่ กม. 10+465.000 ทางสายนี้ใช้เชื่อมต่อระหว่างชุมชนบ้านหนองชาด และชุมชนหนองหว้า จึงออกแบบเป็นสะพานบกข้ามทางหลวงชนบท สน.3082 ขนาด 39.50 เมตร การจราจรด้านล่างออกแบบเป็นทางคู่ขนาน เชื่อมต่อระหว่างทางหลวงชนบท สน.3082 กับทางเลี่ยงเมือง และใช้ระบบวงเวียน ในการจัดการจราจรร่วมด้วย

8. จุดตัดแยกทางหลวงหมายเลข 22 ที่ กม. 14+069.000 (จุดสิ้นสุดโครงการ) จุดตัดนี้ ออกแบบเป็นทางต่างระดับ บนทางทางหลวงหมายเลข 22 โดยก่อสร้างเป็นสะพานบกข้ามทางแยกขนาด 79.50 เมตร (สะพานคู่ ที่ กม. 82+785.400 และ กม. 82+804.500 บนทางหลวงหมายเลข 22) โดยจัดการจราจรใต้สะพาน ให้สามารถใช้ทางเข้าและออกจากทางเลี่ยงเมืองได้สะดวก โดยไม่ติดสัญญาณไฟจราจร

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ลดความแออัดการจราจรจากรถบรรทุก และเชื่อมโยงการเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง ช่วยลดระยะเวลาเดินทางทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงช่วยสนับสนุนศักยภาพการขยายพื้นที่การค้าการลงทุนในการรองรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ ตามนโยบายด้านโลจิสติกส์ของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมนโยบายและแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)