News

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.76 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.80 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ 17.00 น.วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม)

Economic Review & Weekly Update with Global Markets

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.76 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.80 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ 17.00 น. วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม)

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา (และช่วงวันหยุดพิเศษของตลาดการเงินไทย) เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 36.50-36.86 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและกลับมาคาดการณ์ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและทยอยอ่อนค่าลงจากโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดช่วงเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่วนเงินดอลลาร์ก็ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างไรก็ดี โดยรวมเงินบาทยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ การประชุมเฟดล่าสุด ทางเฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาในเชิง hawkish ไปมาก อย่างที่ตลาดกังวล

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และควรจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

  • ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ อาจมีเพียง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งโทนการสื่อสารโดยรวม อาจยังคงสงวนท่าทีต่อการสนับสนุนการลดดอกเบี้ย แต่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ก็อาจยังไม่ได้สนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2024 รวมถึง รายงานผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey) ที่จะช่วยสะท้อนถึงภาวะสินเชื่อและช่วยในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้
  • ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งเราคาดว่า BOE จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ทว่า ควรจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในอนาคต เนื่องจากผู้เล่นในตลาดล่าสุด ประเมินว่า BOE อาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งหาก BOE ส่งสัญญาณชัดเจนว่า มีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน ก็อาจกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง และช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงาน GDP อังกฤษ ในไตรมาสแรกของปีนี้ พร้อมกับรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ BOE เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าของทั้งสองธนาคารกลาง
  • ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) โดยตลาดมองว่า ทั้งสองธนาคารกลางอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน 4.35% และ 3.00% ตามลำดับ ซึ่งบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ ก็อาจรอเฟดเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้จริง หรือมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ เพื่อลดความเสี่ยงและแรงกดดันต่อสกุลเงินของประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) เดือนเมษายน ของจีน ซึ่งหากออกมาสดใส ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์จีนมากขึ้น ซึ่งพอจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินหยวนจีน (CNY) ได้บ้าง
  • ฝั่งไทย – เราประเมินว่า โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 1.3 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ควรจับตารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และระวังความผันผวนในตลาดการเงินไทย หากผู้เล่นในตลาดต่างกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้แผ่วลง ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ทว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังมีอยู่ ทั้งโฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าทยอยซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ลดแรงกดดันต่อเงินบาท ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เงินปอนด์อังกฤษและเงินหยวนจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้ในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways แต่เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด อาทิ ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน หรือในกรณีที่ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็อาจย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย (ระวังการออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย)

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.40-37.10 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์