News

Metthier ปรับเป้ารายได้ปี 2567 โต 30% จากเดิม 15% ขยายฐานลูกค้าภาคตะวันออก-ภาคเหนือ เจาะกลุ่มโรงงาน-โรงพยาบาล

Metthier ประกาศปรับเป้ารายได้ปีนี้กว่า 1,800 ล้านบาท เติบโตกว่า 30% จากเดิมคาดโต 15% หลังจากเดินหน้าปิดดีลลูกค้าใหม่ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มโรงพยาบาล พร้อมลุยขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดินหน้าเปิดสำนักงานสาขาที่ชลบุรีและเชียงใหม่ เพื่อส่งมอบบริการที่เหนือกว่าด้วยเทคโนโลยี ตอบรับความต้องการ Smart Facility Management ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจเป้าหมายในภาคตะวันออกและภาคเหนือ

นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) ผู้ดำเนินธุรกิจการให้บริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ (Smart Facility Management) แบบครบวงจร เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจการให้บริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Facility Management) ในไทย คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 8-10% ในปีนี้ จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจหลังโควิด-19 แต่เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนมากในตลาดยังให้บริการโดยเน้นรปภ. และแม่บ้านแบบเดิม ขณะที่ความต้องการ Smart Facility Management เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนผู้ให้บริการยังน้อยราย จึงส่งผลให้ธุรกิจของ Metthier ขยายตัวอย่างรวดเร็ว  Metthier จึงปรับเป้ารายได้ปี 2567 จาก 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะโต 15% จาก 1,300 ล้านบาท ในปี 2566 เป็น 1,800 ล้านบาท โตกว่า 30% หลังจากบริษัทฯ ได้รุกทำการตลาดอย่างหนักตั้งแต่เปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้วและได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

“ปี 2567 นี้จะเป็นปีแรกที่ Metthier จะรับรู้รายได้เต็มปี โดยคาดว่ารายได้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 30% จากรายได้รวมปีที่แล้ว (จากฐานลูกค้าเดิมของ SAMCO) เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวต่อเนื่องของกลุ่มอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve กลุ่มยานยนต์ EV และกลุ่มโรงพยาบาล นอกจากนี้ Metthier ยังได้ขยายการให้บริการไปยังภาคเหนือ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้มีการพัฒนาโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจ Facility Management ขยายตัวตามไปด้วย” นายขยลกล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานปีนี้ บริษัทฯ เตรียมแผนจ้างบุคลากร รปภ. และแม่บ้านเพิ่มจาก 6,000 คนเป็น 10,000 คนเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจ เน้นการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจรักษาความปลอดภัยและการทำความสะอาดแบบเดิม ไปสู่การบริการที่ผนวกเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อยกระดับความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า ทั้งฐานลูกค้าเดิมที่เป็นองค์กรภาคเอกชนชั้นนำกว่า 300 รายในหลากหลายกลุ่มธุรกิจและกลุ่มลูกค้าใหม่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเปิดสำนักงานสาขาอีก 2 แห่งคือ ชลบุรีและเชียงใหม่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขยายการให้บริการไปยังกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในภาคตะวันออกและภาคเหนือ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ

นายขยล ยังกล่าวอีกว่า แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจ Facility Management จะสูง แต่ผู้ให้บริการที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยยกระดับเสริมการทำงานของพนักงานนั้นยังมีจำกัด ขณะที่ความต้องการของตลาดในการมองหาเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดแข็งของทาง Metthier เพราะนอกจากบุคลากร รปภ. และแม่บ้านกว่า 6,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในขุมพลังหลักของการให้บริการแล้ว บริษัทฯ ยังเสริมประสิทธิภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ MIOC, AI CCTV, Digital Twin, 3D Visualization, Digital Mapping, Smart Robotics และแพลตฟอร์ม MettLink ที่เชื่อมต่อกับรปภ. และแม่บ้านแบบเรียลไทม์ ทำให้ Metthier กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่รายแรกด้าน Smart Facility Management ที่ล้ำสมัยที่สุดในประเทศไทย และยังได้รับการรับรองมาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับระดับสากลในด้านกระบวนการในการพัฒนางานและมาตรฐานในการปรับปรุงคุณภาพซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับภาพรวมตลาดบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยนั้น มีมูลค่าแตะหมื่นล้านบาทและยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล หรือศูนย์สุขภาพ เป็นต้น โดยปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังถือเป็นความท้าทายสำคัญในธุรกิจนี้ และจากอัตราการเติบโตดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการให้บริการและเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น จะเห็นการต่อยอดและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence (AI), Big Data หรือ Internet of Things (IoT) ในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการและการพัฒนาความเป็นอยู่หรือการใช้ชีวิตของคนให้ดีขึ้น