Construction

ทช. เตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2378 เชื่อมเมืองสุรินทร์ รวมระยะทาง 17.954 กม. คาดแล้วเสร็จปี’67

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) พัฒนาเส้นทางในโครงข่ายสนับสนุนการคมนาคมภายในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงให้มีความต่อเนื่อง พร้อมรองรับปริมาณการขนส่งและการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เตรียมเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2378 – เมืองสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 17.954 กิโลเมตร คาดแล้วเสร็จต้นปี พ.ศ. 2567

อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์มีการพัฒนาและขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเมืองหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวหอมมะลิ การเพาะปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายในตัวอำเภอเมืองหรือจังหวัดใกล้เคียง จึงต้องอาศัยเส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองสุรินทร์เป็นหลัก ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นทั้งช่วงเวลาปกติและช่วงเทศกาล ตามนโยบายของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัดสู่ภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2378 – เมืองสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

สำหรับการก่อสร้างแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง โดยเริ่มต้นโครงการช่วงที่ 1 บนทางหลวงชนบทสาย สร.4026 ตั้งแต่ กม. ที่ 8+000 บริเวณข้างโรงเรียนเพี้ยราม ตำบลเพี้ยราม วางแนวตามเส้นทางเดิมไปจนถึง กม. ที่ 22+697 และเริ่มต้นช่วงที่ 2 บริเวณวัดป่านิมิตมงคล ตำบลท่าสว่าง กม. ที่ 28+473 ไปสิ้นสุดโครงการที่ถนนทุ่งโพธิ์ ช่วง กม. ที่ 31+730 ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 17.954 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะดำเนินการยกระดับชั้นทางและขยายความกว้างของถนนจากเดิมผิวจราจรกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1 เมตร ขยายเป็นผิวจราจรกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมเสริมผิวจราจรแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีตบริเวณแนวเส้นทางที่ตัดผ่านหมู่บ้าน และขยายความกว้างของสะพาน จำนวน 5 แห่ง ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตลอดทั้งสายทาง โดยใช้งบประมาณค่าก่อสร้างจำนวน 149.445 ล้านบาท

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางให้ประชาชนสามารถเดินทางจากชุมชนและตำบลต่าง ๆ เข้าสู่ตัวเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร และสนับสนุนการท่องเที่ยวสู่หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าสว่าง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางลัดที่สามารถเดินทางต่อไปยังอำเภอสตึก ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานบุรีรัมย์อีกด้วย