Sunday, April 28, 2024
Latest:
Construction

ทล.ออกแบบทางแนวใหม่ สายเลี่ยงเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี ช่วยบรรเทาปัญหาจราจร – พัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่ง และประตูการค้าระหว่างประเทศ

กรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญกับประตูการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและมาบตาพุด และช่วยแยกการจราจรผ่านเมืองพนัสนิคมออกจากการจราจรท้องถิ่นภายในอำเภอพนัสนิคม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่นและติดขัด เพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวง โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 315 (ฉะเชิงเทรา – พนัสนิคม) กม. ที่ 17+500 ตัดผ่านถนนบ้านกลางเลียบด้านตะวันตกของหมู่บ้านเอื้ออาทร ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 315 (พนัสนิคม – ชลบุรี) กม. ที่ 29+800 มุ่งไปทางด้านใต้ ทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 349 กม. ที่ 4+300 มุ่งทางด้านตะวันออก ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 3284 กม. ที่ 1+800 แล้วมุ่งทางด้านตะวันออกตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 3246 กม. ที่ 4+900 และมุ่งหน้าทางทิศเหนือผ่านทางหลวงชนบทสาย ชบ.3104 กม. ที่ 8+400 ตัดผ่านทางหลวงชนบทสาย ชบ.3086 กม. ที่ 1+400 ตัดผ่านถนนเมืองเก่าอ้อมด้านเหนือของโครงการอนุรักษ์พื้นฟูแหล่งน้ำไร่หลักทอง บรรจบที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 315 (ฉะเชิงเทรา – พนัสนิคม) โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เกาะกลางแบบกดเป็นร่องกว้าง 9.10 เมตร มีเขตทางกว้าง 60 เมตร รวมระยะทาง 41.20 กิโลเมตร งบประมาณโครงการทั้งหมด 7,732 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 6,274 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 1,458 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ ไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ทั้งนี้หากโครงการซึ่งมีการเวนคืนที่ดินแล้ว จะมีความพร้อมเพื่อเสนอของบประมาณดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ประมาณปีพ.ศ. 2566 แล้วเสร็จปีพ.ศ. 2568 โดยรูปแบบทางแยกโครงการมี 9 จุดตัด ดังนี้

1. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 315 (ฉะเชิงเทรา – พนัสนิคม) ออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจรตามแนวถนนโครงการ โดยใต้สะพานข้ามแยกออกแบบเป็นวงเวียนขนาด 2 ช่องจราจร และมีจุดกลับรถใต้สะพาน

2. จุดตัดถนนบ้านกลาง ออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจร ตามแนวถนนโครงการ โดยใต้สะพานข้ามแยกออกแบบเป็นทางแยกระดับพื้น ลักษณะสี่แยกบนถนนบ้านกลาง และปรับปรุงให้มีขนาด 4 ช่องจราจร

3. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 315 (พนัสนิคม – ชลบุรี) ออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ โดยมีสะพานข้ามแยกบนถนนโครงการข้ามทางหลวงหมายเลข 315 และมีทางยกระดับเลี้ยวขวาจากด้านตะวันตกของทางหลวงหมายเลข 315 ไปด้านใต้ของถนนโครงการ และมีจุดกลับรถใต้สะพาน

4. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 349 ออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ โดยมีสะพานข้ามแยกบนถนนโครงการข้ามทางหลวงหมายเลข 349 มีทางยกระดับเลี้ยวขวาจากด้านตะวันตกของถนนโครงการ ไปด้านใต้ของทางหลวงหมายเลข 349 มีทางยกระดับเลี้ยวขวาจากด้านใต้ของทางหลวงหมายเลข 349 ไปด้านตะวันออกของถนนโครงการ และมีจุดกลับรถใต้สะพาน

5. จุดตัดทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคมกับทางหลวงหมายเลข 3284 ออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจร ตามแนวถนนโครงการ โดยใต้สะพานข้ามแยกออกแบบเป็นวงเวียน และมีจุดกลับรถใต้สะพาน

6. จุดตัดทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคมกับทางหลวงหมายเลข 3246 ออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจร ตามแนวถนนโครงการ โดยใต้สะพานข้ามแยกออกแบบเป็นวงเวียน และมีจุดกลับรถใต้สะพาน

7. จุดตัดทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคมกับทางหลวงชนบท สาย ชบ.3104 ออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจร ตามแนวถนนโครงการ โดยใต้สะพานข้ามแยกออกแบบเป็นวงเวียน 2 วง ลักษณะดัมเบลบนถนนทางหลวงชนบท สาย ชบ.3104 และมีจุดกลับรถใต้สะพาน

8. จุดตัดทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคมกับทางหลวงชนบท สาย ชบ.3086 ออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจร ตามแนวถนนโครงการ โดยใต้สะพานข้ามแยกออกแบบเป็นทางแยกระดับพื้น ลักษณะสี่แยกบนทางหลวงชนบท สาย ชบ.3086 และปรับปรุงให้มีขนาด 4 ช่องจราจร

9. จุดตัดถนนเมืองเก่า ออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจร ตามแนวถนนโครงการ โดยใต้สะพานข้ามแยกออกแบบเป็นทางแยกระดับพื้น ลักษณะสี่แยกบนถนนเมืองเก่า และปรับปรุงให้มีขนาด 4 ช่องจราจร