News

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.43 บาทต่อดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.40-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ตามการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น “เร็วและแรง” ของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตในเดือนมีนาคม ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนว่าภาคการผลิตสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย หรือ อาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง ในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงบ้างในช่วงโซนแนวต้าน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน และการรีบาวด์ขึ้นกว่า +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเปิดตลาดหลังวันหยุดเทศกาล Easter ด้วยบรรยากาศระมัดระวังตัว ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาสดใส อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet +3.0% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.11% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.20%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.30% หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาสดใส สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่ให้ระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวขึ้นได้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี มุมมองระยะยาวของเราต่อแนวโน้มบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เราคงประเมินว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าระดับ 4.20% (Risk-Reward มีความคุ้มค่า)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.5-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงแรงสู่โซนแนวรับ 2,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,270 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ยังประเมินว่า ราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่จะช่วยสะท้อนภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมีทั้งเจ้าหน้าที่เฟดที่มีมุมมองเชิง Hawkish, Dovish และ Neutral ต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ทำให้ตลาดการเงินอาจเคลื่อนไหวผันผวนไปตามมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าวได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนี ในเดือนมีนาคม ซึ่งจะรายงานก่อนอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีก็อาจช่วยให้ผู้เล่นในตลาดพอจะประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนที่จะรายงานในช่วงวันพุธนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การอ่อนค่าเร็วและแรงของเงินบาทนั้น มีโอกาสที่จะชะลอลงบ้าง เนื่องจากโซนแนวต้าน 36.60 บาทต่อดอลลาร์นั้น อาจยังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาดอยู่พอสมควร อีกทั้งในเชิงเทคนิคัล เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของเงินบาท รายชั่วโมง เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าอาจชะลอลงบ้างจากสัญญาณ Bearish Divergence ทว่า เมื่อประเมินจากภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทรายวัน ต้องยอมรับว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นยังมีอยู่ ทำให้หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ก็อาจผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าต่อของเงินบาทสู่ระดับดังกล่าว อาจต้องอาศัย รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน หรือ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่วนใหญ่ต้องมีทิศทางเดียวกัน ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง (ที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด)

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป (อัตราเงินเฟ้อเยอรมนี) ในช่วง 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของเงินยูโร (EUR) และเงินดอลลาร์ได้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อเงินเยอรมนีชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจลดดอกเบี้ยได้แน่นอนในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งอาจเป็นการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าเฟด ส่งผลให้ เงินยูโรมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ ในกรณีดังกล่าว ถัดมา ควรระวังช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ตั้งแต่ ช่วง 21.00 น. เป็นต้นไป โดยต้องระวังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง ซึ่งจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไปที่เราประเมินไว้ได้

อนึ่ง เรามองว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ไม่ได้ทำให้ ตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ก็จะยังไม่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่อาจต้องการรอจับตารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.45-36.70 บาท/ดอลลาร์