News

นายก TSEA วิเคราะห์สาเหตุโครงสร้างถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และรุนแรงมากที่สุดในไต้หวัน รับรู้ได้ไกลถึงไทเป และจีน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.4 แมกนิจูด เกิดขึ้นนอกชายฝั่งตะวันออก ห่างออกไปทางทิศใต้ของเมืองหัวเหลียน ไต้หวัน ประมาณ 20 กิโลเมตร ในเรื่องนี้ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (TSEA) อธิบายว่า ตามข้อมูลจากหน่วยงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS) สาเหตุของแผ่นดินไหวเกิดจากรอยเลื่อนย้อน (Reverse Faulting) เกิดขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย และแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ ที่ระดับความลึก 34.8 กม. อยู่ในบริเวณวงแหวนไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่มีการเกิดแผ่นดินไหวชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (TSEA)

การเกิดรอยเลื่อนย้อนดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนที่ในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลก จึงทำให้เกิดสึนามิซัดเข้าหาชายฝั่งตามมา ขณะนี้ตรวจพบคลื่นสึนามิสูงประมาณ 30 ซม. ซึ่งยังไม่เป็นอันตรายมาก อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 25 ปี แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ไกลถึงกรุงไทเป และในประเทศจีนด้วย และยังมีอาฟเตอร์ช็อกที่มีขนาดมากกว่า 5 แมกนิจูดเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดดินถล่มในบางพื้นที่อีกด้วย

ศ.ดร.อมร ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ถล่มของอาคารหลายหลังในเมืองหัวเหลียนว่า  พบโครงสร้างอาคารพังถล่มหลายหลัง โดยพบรูปแบบการพังถล่มที่เกิดขึ้นในชั้นล่างของอาคาร ซึ่งทางวิศวกรรมเรียกว่าการวิบัติแบบชั้นอ่อน (Soft Storey) โดยเสาชั้นล่างของอาคารจะถูกทำลาย ทำให้อาคารส่วนที่เหลือล้มเอียงทำมุม 45 องศากับพื้นดิน และอาคารที่พังทลายลักษณะนี้ น่าจะเป็นอาคารเก่าที่ยังไม่ได้รับการเสริมกำลัง

“อาคารที่มีความเสี่ยง “ชั้นอ่อน” จะมีลักษณะที่ชั้นล่างเปิดโล่ง มักเป็นอาคารพาณิชย์ ที่เปิดโล่งชั้นล่างทางด้านหน้า 1 ด้านเพื่อใช้ทำการค้า ส่วนด้านที่เหลือมีการก่อผนัง จึงทำให้เสาชั้นล่างด้านที่เปิดโล่งเป็นเสาอ่อนแอ จึงพังทลายและทำให้อาคารล้มเอียงลงมา ดังที่เกิดขึ้น” ศ.ดร.อมร กล่าว

แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นที่ไต้หวัน ไม่ได้ส่งผลกระทบมาที่ประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังมีความเสี่ยงแผ่นดินไหวระดับปานกลาง ในหลายพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ตลอดจนถึงกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเสริมความแข็งแรงให้แก่อาคารเก่า ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การพอกขยายเสาให้ใหญ่ขึ้น หรือการติดตั้งค้ำยันทแยง (Bracing) ซึ่งเป็นวิธีการที่ลดความเสี่ยงการวิบัติจากชั้นอ่อนได้