News

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

Daily Markets Update with Krungthai Global Markets

วันที่ 4 เมษายน 2567

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.58-36.68 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ในช่วงแรก เงินบาทได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด อีกทั้งประธานเฟดสาขา Atlanta (Raphael Bostic) ก็ออกมาสนับสนุนว่า เฟดควรลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง ในปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทได้พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรราคาทองคำ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ เดือนมีนาคม ออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก ส่วนถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดการเงินมากนัก เนื่องจากท่าทีดังกล่าวของประธานเฟดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและสอดคล้องกับมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.40% ของบอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ จากรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาดีกว่าคาดและท่าทีสนับสนุนเฟดลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ของประธานเฟดสาขา Atlanta ก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง จากรายงานดัชนี ISM ภาคการบริการที่ออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.11%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.29% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ASML +1.6% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็มั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน หลังอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนล่าสุดชะลอตัวลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell +1.1% หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 4.40% ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะพลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 4.35% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่จะเคลื่อนไหวไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่างไรก็ดี เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าระดับ 4.20% (Risk-Reward มีความคุ้มค่า) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไร สถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่า) ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างออกมาย้ำจุดยืนว่า เฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะเผชิญแรงกดดันบ้าง ในช่วงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.40% ทว่า รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ล่าสุด ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยเฉพาะโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด ซึ่งอาจมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ในปีนี้ได้  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มชะลอลง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และอานิสงส์ของโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ นอกจากนี้ จากการประเมินปัจจัยเชิงเทคนิคัล สัญญาณ Bearish Divergence บน USDTHB ก็มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อประเมินจากภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทรายชั่วโมง และราย 4 ชั่วโมง ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลง และน่าจะยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ขณะที่การกลับมาแข็งค่าขึ้นก็อาจยังติดโซนแนวรับ 36.45 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบกลับมาเพิ่มสถานะ Long THB หรือลดสถานะ Short THB อย่างมีนัยสำคัญ จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ก่อน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วง 18.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. เป็นต้นไป

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์